นิด้าโพลเผยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 73.42 ระบุมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น หลังรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และเพิ่มฐานเงินเดือนให้กับข้าราชการที่จบวุฒิปริญญาตรีส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามกลไกทางการตลาด ส่วนอีกร้อยละ 23.58 ระบุว่าค่าใช้จ่ายยังคงเท่าเดิม เพราะเลือกใช้สินค้าที่ราคาถูกและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก
สำหรับวิธีการชำระค่าใช้จ่ายโดยปกติ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 95.33 ใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย และอีกร้อยละ 4.67 เลือกที่จะใช้บัตรเครดิตแทนเงินสด
ด้านภาระหนี้สินของประชาชนที่จะต้องชำระอยู่ในช่วงนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 27.83 ต้องชำระหนี้ให้กับธนาคารมากที่สุด รองลงมาเป็นสหกรณ์ร้อยละ 8.83 และบัตรเครดิตจากสถาบันการเงินต่างๆ อีกร้อยละ 8.53
โดยประชาชนร้อยละ 85.01 ฝากให้ รมว.พาณิชย์ มีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าประเภทอื่นปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "แนวโน้มการใช้จ่ายของคนไทยในยุคปัจจุบัน" ระหว่างวันที่ 20-29 พ.ค.ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคจำนวน 1,200 หน่วยตัวอย่าง