วันที่ 2 ก.ค.2540 ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่งเรียกกันว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง" โดยในวันแรกที่มีการประกาศลอยตัว ค่าเงินบาทร่วงลงจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ ลงไปอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ และดิ่งลงไปถึง 56 บาทในช่วงต้นเดือนม.ค.2541 ส่วนดัชนีหลักทรัพย์ก็ร่วงลงไปเหลือ 207 จุด
ในสถานการณ์ดังกล่าว เงินสำรองระหว่างประเทศของแบงก์ชาติลดลงจาก 4 หมื่นล้านดอลลาร์ เหลือ 800 ล้านดอลลาร์ นับเป็นภาวะที่แบงก์ชาติอั้นไม่อยู่แล้ว ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากที่ถูกนายจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หนี้สินต่างประเทศก็พุ่งพรวดขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น โดยหนี้ต่างประเทศสูงถึง 130% ของจีดีพี เป็นภาวะที่ธุรกิจต่างๆรับมือไม่ไหว ต้องปลดพนักงานออก หรือปิดกิจการกันไป
ในวันที่ 14 ส.ค.2540 ไทยขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นจำนวน 14,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อแก้วิกฤติครั้งนั้น และเพื่อแลกกับเงินก้อนนี้ เราต้องปฏิบัติตามกฎของ IMF อย่างเคร่งครัด, ต้องปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหา, แก้กฎระเบียบให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้สะดวกขึ้น, แปรรูปรัฐวิสาหกิจ จนบางคนกล่าวว่า ไทยได้สูญเสียอธิปไตยส่วนหนึ่งไปแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ใช้หนี้ได้ก่อนกำหนด 2 ปี โดยสามารถปลดแอกจาก IMF ได้ในวันที่ 31 ก.ค.2546
วิกฤติครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กลุ่มเงินทุนเก่าในธุรกิจธนาคารต้องปิดตัวลง ธนาคารหลายแห่ง เช่น มหานคร, นครธน เหลือไว้เพียงชื่อ เป็นจุดจบของ 56 ไฟแนนซ์และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของนักธุรกิจสำคัญๆในวงการ เช่น เจ้าพ่อโรงเหล็ก สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เจ้าของสโลแกน 3 ไม่ “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย"
ผ่านไปกว่า 10 ปีแล้ว แต่ปัญหาที่ต้องเผชิญมีความซับซ้อนและรุนแรงขึ้น ซึ่งก็คือกระแสเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างเสรี พร้อมไหลเข้า ไหลออก จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งในทันที เมื่อมีผลกำไรที่น่าดึงดูดใจ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยังต้องต่อสู้กับกองทุนเฮดจ์ ฟันด์ต่อไป โดยไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทฤษฎีตายตัวในการแก้ปัญหา เพราะสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่เคยอยู่นิ่ง
การที่ประเทศเอเชียผูกค่าเงินของตนกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดูเหมือนมีความมั่นคง และทำให้ภาคธุรกิจชะล่าใจโดยกู้เงินดอลลาร์และแลกเป็นสกุลเงินของตนโดยไม่ได้ซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารนำเงินที่กู้มาไปปล่อยกู้ต่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นยุคที่เฟื่องฟู ทำกำไรได้สูง ในขณะเดียวกัน ความผันผวนของดอลลาร์ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายเงินหยวนของจีน โดยจีนคงค่าเงินหยวนไว้ในระดับต่ำ แม้สหรัฐจะบีบให้จีนปล่อยเงินหยวนแข็งค่าให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลก แต่ก็ไม่สำเร็จ และท้ายที่สุดดอลลาร์พุ่งสูงขึ้นถึง 200% ในระยะเวลา 6 เดือน ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ดุลการค้าของไทยที่เป็นเงินดอลลาร์ติดลบมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีเงินไหลเข้าประเทศสูง ทำให้เราชะล่าใจ และละเลยวินัยทางการเงินที่ควรจะต้องเข้มงวด เรายังสร้างภาพลวงตาให้กับตนเอง เอกชนก็หลงระเริง คิดว่าเป็นนาทีทอง เดินหน้ากู้เงินมากขึ้น เพื่อขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้จะมีสัญญาณเตือนบ้างแล้ว แต่ธนาคารก็ยังไม่สังหรณ์ใจ ยังปล่อยกู้ต่อไป เป็นไปตามคาดการณ์ของนายโซรอส ในวันที่ 2 ก.ค.1997 (พ.ศ.2540) รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าอุ้มเงินบาทเมื่อหลายเดือนก่อน จนไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว เรียกว่าสุดแรงจะต้านแล้ว นายโซรอสกล่าวว่า วิกฤติต้มยำกุ้งจะไม่รุนแรง ถ้าธนาคารในเอเชียไม่ถ่วงเวลาพยุงค่าเงินนานเกินไป ธนาคารในประเทศก็ยังปล่อยกู้ แม้ว่ารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จนวิกฤติลุกลามไปยังประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ กลายเป็นวิกฤติที่เกิดจากระบบการเงินไม่มั่นคง การที่กองทุน Quantum Funds ขายล่วงหน้าเงินบาทในเดือนม.ค.1997 ก็เท่ากับเป็นสัญญาณเตือนแล้ว หากเราเฉลียวใจเร็วกว่าเดิม ก็คงจะเจ็บปวดน้อยลง วิกฤตินี้ส่วนหนึ่งจึงเกิดจากการมั่นใจตนเองมากเกินไปว่า จะสามารถต้านการล่มสลายของระบบการเงินที่ง่อนแง่นได้ เราเห็นสัญญาณเตือนภัยได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 7-8% ของจีดีพี แต่เราก็ปลอบใจตัวเองว่า จีพีดีที่โตเป็นเลข 2 หลักน่าจะรองรับตรงนั้นได้ การที่มีหนี้สูง เราก็มองเป็นเรื่องปกติ เพราะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ก็ต้องมีเงินต่างประเทศเข้ามาหนุน แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ก้อนใหญ่ระยะสั้น นอกจากนี้ สัญญาณเตือนยังมาจากเงินทุนนำเข้าภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง เพราะทางการไม่ได้เข้มงวดในเรื่องนี้ ไม่ได้ดูแลอย่างทั่วถึงจึงเกิดปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเสรีทางการเงินแล้ว เอกชนบางรายไม่ได้มารายงานข้อมูล จึงไม่รู้เลยว่า เงินที่กู้ยืมจากต่างประเทศนั้นเป็นหนี้ของเรา และนั่นก็เป็นความเสี่ยงที่เราไม่ได้ตระหนัก ในภาวะนั้น มีการปล่อยสินเชื่อสูง ซึ่งทำให้ประชาชนคิดว่า เศรษฐกิจดี, หุ้นดี, อสังหาริมทรัพย์ดี มองว่าทุกอย่างเป็นความรุ่งเรือง ทำให้เราไม่ระวัง คนที่มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะกู้ได้ ก็ยังสามารถกู้ได้ นับเป็นช่วงที่สินเชื่อขยายตัวเร็วมาก คนก็รู้สึกว่ามั่งคั่ง กล้าใช้จ่าย ทุกอย่างดูดีหมด แต่หารู้ไม่ว่าวิมานที่วาดไว้ ท้ายที่สุดแล้ว จะต้องพังทลายลงอย่างไม่มีชิ้นดี และจบลงด้วยวิกฤติที่ทำให้เราบอบช้ำไปตามๆกัน จากวิกฤติที่เกิดขึ้น ความเจ็บปวดที่เราเผชิญ ทำให้เราเข็ดหลาบ (อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง) และกลับมาคิดกันว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นนี้สอนอะไรเราบ้างและเราจะป้องกันการเกิดวิกฤติไม่ให้เกิดซ้ำอีกด้วยวิธีใด ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีสาเหตุพื้นฐานมาจากความโลภ โลภที่อยากได้กำไร หวังผลในอนาคต จึงกล้าเสี่ยง เมื่อมีสิ่งนี้ก็ต้องมีธรรมภิบาลเข้ามากำกับ หลังจากที่เราเข้าแผน IMF ที่เข้มงวด รัฐและเอกชนก็ปรับตัวสร้างความแข็งแกร่ง, บริหารความเสี่ยง และใช้หลักธรรมาภิบาลเข้ามาคุมความโลภ ความไม่รู้จักพอ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้าย การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ทำให้เราไม่ต้องปกป้องค่าเงิน ณ จุดใดจุดหนึ่ง แต่จะแทรกแซงเมื่อเกิดความผันผวนด้วยการซื้อขาย หรือแทรกแซงทางอ้อม ซึ่งจะมีความยืดหยุ่น โดยการแทรกแซงนั้นจะช่วยลดความผันผวนลง ซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา ในด้านระบบสถาบันการเงินนั้น หลังจากที่สถาบันการเงินล้มไปเยอะ ธปท.ก็พยายามทำให้สถาบันที่เหลือมีความมั่นคง นำเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บาเซิล 2) มาใช้ เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล ขณะเดียวกัน เอกชนก็มีบทเรียนก่อนหน้านี้แล้ว ต้องระวังการกู้จากต่างประเทศ บริหารความเสี่ยง ใช้หลักธรรมาภิบาล ผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ ส่วนภาคทางการก็ต้องยอมรับว่า มีเงินไหลเข้า ก็ต้องมีเงินไหลออก การเก็งกำไรเป็นเรื่องปกติ หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเลย ค่าเงินก็จะนิ่งมาก แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้น ก็จะรุนแรงมาก ดังนั้น การเก็งกำไรก็เป็นสิ่งที่ควรมีบ้าง แต่ในระดับที่ดูแลได้ ข้อมูลต่างๆ เช่น ทุนสำรองของทางการ, หนี้เสีย, เศรษฐกิจ, การเงิน, หนี้ต่างประเทศ แต่ก่อนเป็นข้อมูลลับ แต่เดี๋ยวนี้มีความโปร่งใสมากขื้น ข้อมูลต่างๆควรมีการเปิดเผยเพื่อให้ภาครัฐและเอกชนนำไปวิเคราะห์ ประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ ทางการก็ต้องดูแลฐานะเงินสำรองด้วย หากมีการนำไปใช้ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุน, ความเสี่ยง, ความผันผวน การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องลดการพึ่งพาต่างประเทศ โดยหันมากู้ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน พึ่งพาสภาพคล่องภายในประเทศ ซึ่งการทำเช่นนี้ จะช่วยลดแรงกดดันจากต่างประเทศเมื่อเกิดวิกฤติ ในส่วนของทางการ ก็ควรมีการเตรียมสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ โดยร่วมมือกับสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ หากหวังพึ่ง IMF เพียงอย่างเดียว เมื่อเกิดวิกฤติอาจะไม่ทันการ ดังนั้น ควรมีการศึกษาถึงวงเงินสว็อป, เงินกู้ หรือ เครดิตไลน์ไว้ด้วย ส่วนประชาชนอย่างเราๆ สิ่งที่เราทำได้ คือ ต้องระมัดระวัง พิจารณาดูราคาหุ้น, อัตราแลกเปลี่ยน, ดอกเบี้ย ราคาต่างๆ ติดตามข้อมูล จับตาความผันผวน ดูว่ามีอะไรผิดปกติ ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งรูปแบบก็เปลี่ยนไป ต้องพยายามป้องกัน และใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ประมาท เพราะเราไม่รู้ว่าวิกฤติจะเกิดขึ้นเมื่อใด การใช้ชีวิตในแต่ละวันให้มีค่า ไม่ประมาท มีความระมัดระวัง ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จึงน่าจะเป็นบทเรียนพื้นฐานประการหนึ่งที่เราได้จากวิกฤติที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่ "แจ๊ค ดอร์สัน" พระเอกจากมหากาพย์ "Titanic" กล่าวว่า “You learn to take life as it comes at you… to make each day count." แล้วอย่าลืมทำให้ทุกวันของคุณเป็นวันที่มีค่านะคะ