นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน กล่าวต้อนรับคณะผู้นำจากภาครัฐและภาคธุรกิจชั้นนำด้านพลังงานของโลกที่ได้เดินทางเข้าร่วม การประชุม World Economic Forum (WEF) on East Asia ซึ่งการประชุมดังกล่าว มีหัวข้อหลัก (Theme) คือ “Shaping the Region’s Future through Connectivity" โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม — 1 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ
นายอารักษ์ ทำหน้าที่ประธานร่วม (Co-Chaired) กับนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท. (PTT) เพื่อร่วมอภิปรายกับรัฐมนตรีด้านพลังงานจากประเทศต่างๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ และลาว ตลอดจน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) จากบริษัทชั้นนำของโลก
นายอารักษ์ เปิดเผยว่า การจัดประชุม WEF ในครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ในอีก 3 ปีข้างหน้าประเทศสมาชิกอาเซียนจะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 เพื่อการบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ยั่งยืน โดยภาคพลังงาน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่มีความท้าทายที่จะต้องมีการบูรณาการกับแผนปฏิบัติการของประเทศสมาชิก โดยจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกฏเกณฑ์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและการลงทุนทางด้านพลังงานในภูมิภาคร่วมกันต่อไป
สำหรับการจัดประชุม Private session ในหัวข้อด้านพลังงานในครั้งนี้ คือ “Energy Industry Partnership Programme: Shaping the Region’s Future through Connectivity" เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นและอภิปรายเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่เหมาะสมกับการบูรณาการด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนให้สามารถแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป
การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก เป็นการประชุมในหัวข้อ “Energy Security and Infrastructure Roundtable: ASEAN Five-Year Plan in Energy" ได้มีการอภิปรายถึงแผนปฏิบัติการด้านพลังงานของอาเซียน 5 ปี (53-57) (ASEAN Plan for Action on Energy Cooperation (APAEC), 2010 - 2015) โดยจะต้องมีการบูรณาการการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน อาทิ โครงการเชื่อมโยงทางด้านไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) และการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline) เป็นต้น
ส่วนที่สอง มีการอภิปรายในหัวข้อ “New Energy Architecture for East Asia" ซึ่งได้มีการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างทางด้านพลังงานของไทย และอาเซียนในปัจจุบันว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน ความมั่นคงทางพลังงาน และการเข้าถึงพลังงานในทุกภาคส่วนได้อย่างไร รวมทั้งการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านพลังงานของอาเซียนที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงต่อไป
นอกจากนี้ รมว.พลังงาน ยังได้มีการหารือทวิภาคีด้านพลังงานกับประเทศต่างๆ ในช่วงการประชุมดังกล่าว ได้แก่ รัฐมนตรีพลังงานออสเตรเลีย บรูไน เมียนมาร์ และสิงคโปร์
ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยมีโอกาสจัดการประชุม WEF on East Asia ในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่มีความพร้อมในเชิงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์(Strategic location)และมีความพร้อมในด้านการการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านพลังงานของอาเซียน และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบด้านพลังงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนไทยในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน อาทิ ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานชีวมวล และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาสาขาพลังงานให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน