คลังเร่งยกร่างก.ม.เพื่อสวล.-ตั้ง Carbon Fund แก้ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 1, 2012 10:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการศึกษาและยกร่างพระราชบัญญัติมาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม และการผลักดันการจัดตั้ง Carbon Fund ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อสร้างเครื่องมือที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

สศค.ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme: UNDP) ในการจัดทำกรอบแผนงานด้านการคลังที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Fiscal Framework: CFF) ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแผนนโยบายการคลังของประเทศที่มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานจัดทำกรอบแผนงานด้านการคลังที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ สศค. เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภายในและภายนอกกระทรวงการคลัง

คณะทำงานดังกล่าว มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำแก่ทีมที่ปรึกษาของ UNDP ในการทำการศึกษาการใช้จ่ายภาคสาธารณะและการจัดการเชิงสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Public Expenditure and Institutional Review: CPEIR) เพื่อวิเคราะห์รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเชื่อมโยงกับขั้นตอนการจัดทำงบประมาณของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานที่สำคัญสำหรับการจัดทำ CFF รวมถึงการผลักดันให้มีการดำเนินการตามแนวทางการศึกษา CPEIR ให้เป็นรูปธรรม และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 คณะทำงานฯ ได้ร่วมกับ UNDP จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อเสนอร่างรายงาน CPEIR ต่อหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นพบว่าประเทศไทยมีแผนงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว ซึ่งการจะดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้ รัฐบาลจะต้องอาศัยความร่วมมือจากราชการและเอกชน พร้อมทั้งควรมีการลงทุนในลักษณะของ Green Investment

ขณะที่โครงสร้างงบประมาณในปัจจุบัน พบว่าโครงการที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีลักษณะเกี่ยวข้องกับการปรับตัว(Adaptation) มากที่สุด ประมาณร้อยละ 70 ของงบประมาณที่เกี่ยวข้องและรองลงมาได้แก่โครงการในลักษณะของการบรรเทาปัญหา (Mitigation) ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ซึ่งรัฐบาลควรสร้างกลไกในการเชื่อมโยงโครงการที่เกี่ยวข้องเข้ากับกระบวนการจัดสรรงบประมาณ และมีการกำหนดเป้าหมายด้านการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวโดยที่ปรึกษาจะได้รวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะในการประชุมครั้งนี้ไปปรับปรุงในผลการศึกษาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ