ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเศรษฐกิจ Q2/55 โต 3.1-4.1% ครึ่งปีหลังบวกสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 1, 2012 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.1-4.1 ในช่วงไตรมาส 2/55 จากการใช้จ่ายในประเทศ หลังภาระค่าครองชีพบางส่วนผ่อนคลายลง หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังอยู่บนทิศทางของการฟื้นตัวในเดือน เม.ย.55 โดยเฉพาะการพลิกกลับมาขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคเอกชนในภาพรวม แม้ว่าเครื่องชี้บางรายการจะชะลอตัวสะท้อนผลกระทบจากความกังวลต่อภาระค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ยังไม่เอื้อให้การส่งออกพลิกกลับมาอยู่ในแดนบวกได้

อานิสงส์จากภาระค่าครองชีพประชาชนที่บรรเทาลงบางส่วนในช่วงเดือน พ.ค.55 ตลอดจนมาตรการปรับเพิ่มรายได้ และความต้องการสินค้าบางประเภทที่หายไปในช่วงน้ำท่วม อาทิ รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะช่วยหนุนให้แรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นมาอยู่ในกรอบร้อยละ 3.1-4.1 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่เติบโตเพียงร้อยละ 0.3 (YoY) ในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่กระนั้น คงต้องติดตามพัฒนาการของวิกฤตหนี้ยุโรป ซึ่งอาจเป็นตัวพลิกผันแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ต่อไปอย่างใกล้ชิด

ช่วงครึ่งหลังของปี 55 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะมีค่าเป็นบวกได้ในระดับที่สูงขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับอานิสงส์จากฐานมูลค่าเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 54 และแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่น่าจะมีแรงกระตุ้นจากภาครัฐเข้ามาสมทบ และ/หรือชดเชยการใช้จ่ายในส่วนของภาคเอกชนและการส่งออกที่อาจเผชิญสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนมากขึ้นจากทั้งตัวแปรในประเทศ (ต้นทุนการผลิต สถานการณ์การเมือง) และต่างประเทศ (ช่วงเวลาการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เป็นแกนหลักอาจลากยาวออกไป ท่ามกลางบรรยากาศความเสี่ยงจากยุโรปและตะวันออกกลาง)

จากภาพดังกล่าวข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะยังคงทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจไทยในภาพรวม แต่ภาคการส่งออกของไทย ก็ยังคงมีความเชื่อมโยงกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปกคลุมไปด้วยความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน ที่เพิ่มจุดสนใจมาที่ความเปราะบางของสเปน อิตาลี นอกเหนือไปจากความเสี่ยงในกรีซ ซึ่งอาจมีสถานการณ์ที่พลิกผันเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ แม้สัดส่วนการส่งออกไปยังยูโรโซนโดยตรงจะลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่ผลกระทบทางอ้อมที่อาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ก็อาจเป็นสถานการณ์ที่เลี่ยงได้ยาก โดยอาจต้องจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด เพราะหากวิกฤตหนี้ยุโรปยังไม่ลดระดับความเสี่ยงลง ก็อาจทำให้การฟื้นกลับของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงไตรมาส 3/55 ต้องล่าช้าออกไป ย่อมจะมีผลต่อหลายอุตสาหกรรมของไทยที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ