นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถึงภาพรวมการประชุม World Economic Forum on East Asia ครั้งที่ 21 ว่า ช่วง 3 วันที่ผ่านมาผู้นำภาครัฐบาล ภาคเอกชนและภาคสังคมของประเทศต่างๆกว่า 600 คนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่จะทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกร่วมกัน
ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลและให้ความสนใจเป็นพิเศษคือการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 ว่าจะทำให้มีปัญหาตามมาเช่นเดียวกับกลุ่มยูโรโซนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีของไทยและผู้นำในภูมิภาคก็ได้มีการหารือกันในเรื่องนี้และแสดงความมั่นใจว่าการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนไม่น่าจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับทางยุโรป เพราะกลุ่มอาเซียนมีการรวมตัวกันมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว
ขณะนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอาเซียนจะไม่ใช้สกุลเงินเดียวกันเหมือนกับกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) และการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในครั้งนี้จะเป็นการเติบโตด้วยการเชื่อมโยงและพัฒนาทุกประเทศสมาชิกไปพร้อมๆกัน ทั้งระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร รวมทั้งความเข้าใจของภาคประชาชน
"การประชุมครั้งนี้ทุกฝ่ายก็คุยกันแล้วว่าจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งจริงจังมากกว่าครั้งก่อนๆคือจะต้องเติบโตไปด้วยกันเป็นการช่วยกันกระจายรายได้ เติบโตและดีขึ้นไปพร้อมกัน"นายกิตติรัตน์ กล่าว
สำหรับประเด็นที่คาดว่าจะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้เร็วที่สุดภายหลังการประชุมในครั้งนี้คือ นานาประเทศคงจะมีการผ่อนปรนหรือยกเลิกการคว่ำบาตรประเทศพม่า โดยน่าจะได้เห็นองค์ระดับนานาชาติเข้าไปเปิดสำนักงานในพม่ามากขึ้น และคงมีความชัดเจนภายในไม่กี่สัปดาห์นี้