สถาบันวิจัยฮุนไดเปิดเผยว่า เกาหลีใต้กำลังจะติดอันดับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเมื่อพิจารณาจากผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตามพื้นฐานภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ หรือ พีพีพี (purchasing power parity—PPP)
รายงานของสถาบันระบุว่ารายได้ต่อหัวของประชากรของเกาหลีใต้แตะที่ 22,778 ดอลลาร์ รั้งอันดับที่ 34 ของโลกในปี 2554 ในขณะที่สัดส่วนจีดีพีต่อพีพีพีอยู่ที่ 31,714 ดอลลาร์รั้งอันดับที่ 25 ของโลก
รายงานดังกล่าวระบุว่า สาเหตุที่ตัวเลขทั้งสองแตกต่างกันอย่างมากเนื่องมาจากต้นทุนด้านอาหาร ที่พักอาศัย และ เครื่องแต่งกายที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับฐานการคำนวณของปี 2551
โดยในปี 2551 ราคาอาหารในเกาหลีใต้สูงกว่าราคาเฉลี่ยของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในปัจจุบันราว 3% ในขณะที่ราคาเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์และไร้แอลกอฮอล์ในเกาหลีใต้สูงกว่าในกลุ่มประเทศ OECD ประมาณ 20% และ 30% ตามลำดับ
แต่อย่างไรก็ดีราคาสินค้าในหมวดเครื่องแต่งกายและรองเท้าในเกาหลีใต้ต่ำกว่าในกลุ่มประเทศ OECD อยู่ประมาณ 10% ในขณะที่ราคาบ้าน ค่าไฟฟ้า น้ำประปา และ น้ำมันเชื้อเพลิงต่ำกว่าประมาณ 47%
นอกจากนี้ ราคาบุหรี่ในเกาหลีใต้ยังถูกกว่าในกลุ่มประเทศ OECD ประมาณ 51% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล การสื่อสาร และ วัฒนธรรม สูงกว่าในกลุ่มประเทศ OECD ประมาณ 48%, 41% และ 24% ตามลำดับ
นักวิจัยของฮุนไดระบุว่า ถึงแม้ว่าราคาอาหารในเกาหลีใต้จะมีเสถียรภาพ แต่เนื้อวัวและผักกลับมีราคาสูงกว่าในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม พร้อมกับเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการสร้างเสถียรภาพด้านราคาของสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ สถาบันยังเรียกร้องให้รัฐาลปรับค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาใหม่ เนื่องจากราคาที่ต่ำจนเกินไปกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่สูงเกินไปและเป็นการผลักภาระไปยังงบประมาณของประเทศ สำนักข่าวยอนฮับรายงาน