บมจ.ปตท.(PTT) โดยสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) จัดพิธีเปิดระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการพัฒนาและประเมินผลการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทั้งสององค์กรดำเนินการร่วมกัน ณ ศูนย์ฝึกอบรมวังน้อย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นางรัตนาวลี อินโอชานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. กล่าวว่า ปตท.และ เนคเทค ได้ร่วมงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากปิโตรเลียม รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมของประเทศและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องคัดสรรเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ทั้งในส่วนของการเลือกใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและพื้นที่ติดตั้งโดยได้คัดเลือกเซลล์แสงอาทิตย์และทำการติดตั้งเพื่อศึกษาวิจัยในโครงการฯ ณ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. รวมทั้งสิ้น 7 ชนิด กำลังการผลิตรวม 10 กิโลวัตต์ ซึ่งเซลล์แสงอาทิตย์ดังกล่าว มีทั้งระบบปรับมุมรับแสงอาทิตย์อัตโนมัติและแบบติดตั้งติดอยู่กับที่ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบถึงผลการผลิตไฟฟ้าที่ได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และมีความคุ้มค่าในการใช้งานระบบดังกล่าวหรือไม่ โดยการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลจะเป็นตามมาตรฐาน IEC (International Electrotechnical Commission)
ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า เนคเทคก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์(Solar Energy Technology Laboratory(STL) ตั้งแต่ปี 2541 โดยเล็งเห็นว่า เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้มีการใช้งานได้อย่างอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศอย่างมาก
ปัจจุบันเนคเทคมีบุคลากรด้านการวิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ในระดับสากล ในการดำเนินโครงการพัฒนาและประเมินผลการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ดังกล่าว ทีมห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์จากเนคเทคร่วมกับทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท.ได้ใช้องค์ความรู้ทำการประเมินประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆกัน เพื่อหาข้อสรุปว่าเทคโนโลยีของเซลล์แสงอาทิตย์แบบใดมีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของประเทศไทย
"ผลการศึกษาวิจัยจากโครงการดังกล่าวนี้จะเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและนำเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้งานในประเทศ นำไปสู่การลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเลือกใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ไม่เหมาะสม โดยสามารถคืนทุนได้เร็วขึ้น ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย" นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว