สนพ.รับแผน PDP ใหม่ อาจทำให้แนวโน้มค่าไฟเพิ่ม 1.04 บาท/หน่วย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 5, 2012 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวในงานสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย" พ.ศ.2553-2573 หรือ PDP 2010 ว่า การปรับปรุงแผนฯ ครั้งที่ 3 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เช่น การพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้า 10 สายหลักในกรุงเทพฯ และโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 สาย

รวมทั้งให้สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการแสวงหาและพัฒนาพลังงานและระบบไฟฟ้าจากทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการกำหนดเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจากร้อยละ 12 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 25 ภายในปี 2564 และลดการใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี 2573

"หากเป็นไปตามแผนฯ จะมีผลกระทบต่อการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่หน่วยละ 10 สตางค์ แต่ค่าเชื้อเพลิงจะแปรผันตามราคาพลังงานในอนาคต ซึ่งหากคิดราคาในปัจจุบันจะทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นอีก 1.04 บาทต่อหน่วย หรือรวมกับค่าไฟฐานเป็น 4 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย" นายสุเทพ กล่าว

ทั้งนี้ ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด(PEAK) ตั้งแต่ปี 2555-2573 จะลดลงอยู่ที่ 52,256 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55,065 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 29 หรือ 14,617 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ร้อยละ 9 หรือ 6,374 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 44 หรือ 25,451 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหิน/น้ำมัน/นิวเคลียร์ ร้อยละ 18 หรือ 8,623 เมกะวัตต์

โดยแผนฯ ฉบับนี้ได้เลื่อนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี จากปี 2566 เป็นปี 2569 เพิ่มโรงไฟฟ่าพลังงานความร้อนร่วมจาก กฟผ.จำนวน 15 โรง กำลังผลิต 13,500 เมกะวัตต์ และจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) อีก 6 โรง หรือ 5,400 เมกะวัตต์ และลดโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดเหลือ 4 โรง หรือ 3,200 เมกะวัตต์

ด้านนายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า หลังจากแผนฯ ได้ข้อสรุปแล้ว กกพ.จะตั้งคณะอนุกรรมการเข้ามาดูแลแผน IPP ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้มีไฟฟ้าเข้าระบบทันตามแผนฯ ซึ่งจะต้องดูการจัดหาก๊าซฯ ในราคาต่ำ โดยจะให้ ปตท.จัดหาก๊าซฯ ระยะยาว จากปัจจุบันที่มีการซื้อจากตลาดจร เนื่องจากแผนฯ มีการใช้ก๊าซฯ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จะต้องพยายามจัดหาก๊าซฯ จากทุกแหล่ง เช่น ในพม่า กัมพูชา ส่วนการนำเข้าแอลเอ็นจีจะทำอย่างไรให้ราคาถูกกว่าเดิม โดยแอลเอ็นจีตลาดโลก แบ่งเป็น 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ซึ่งในตลาดอเมริกามีราคาถูกที่สุดที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ยุโรปอยู่ที่ 9-10 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตลาดเอเชียคิดสัดส่วนราคาแอลเอ็นจี ร้อยละ 10-15 ของราคาน้ำมัน หรือมากกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันขณะ ลดลงค่อนข้างมาก โดยน้ำมันเวสเท็กซัสอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาก๊าซฯ ปรับลดลงด้วย

นายดิเรก กล่าวด้วยว่า กกพ.ยังเตรียมพิจารณาปรับเงื่อนไขการเข้าประมูล IPP ของหน่วยงานที่มีรัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ซึ่งเงื่อนไขจะต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม กพช.เพราะก่อนหน้านี้ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลรอบที่ผ่านมาได้ เพราะติดข้อกำหนดดังกล่าว

ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการใช้ก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซฯ ที่ปัจจุบัน ยังอ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลังร้อยละ 30 หากจะมีการเปลี่ยนแปลงการอ้างอิงราคา กระทรวงพลังงาน จะต้องเจรจากับผู้ขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ แต่ในต่างประเทศใช้วิธีการอิงราคาน้ำมันเช่นกัน

ขณะที่นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ตามแผนฯ ที่ปรับปรุงครั้งที่ 3 คาดว่าจะส่งผลให้ค่าไฟเมื่อสิ้นแผนปรับขึ้นเท่าตัว หรืออยู่ที่ 5-6 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย และตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมในแผนฯ ฉบับใหม่มีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจสูงกว่าเดิม โดยคาดการณ์ GDP ในแต่ละปีที่ประมาณร้อยละ 4-6 ขณะที่แผนฯ เดิม GDP ขยายตัวร้อยละ 4.1-4.4 และในปีนี้แม้ PEAK จะปรับตัวขึ้นสูงถึง 26,355 เมกะวัตต์ แต่ก็ยังต่ำกว่าแผนฯ เดิมที่คาดว่าจะสูงถึง 27,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นตามแผนฯ ใหม่หากใช้ประมาณการณ์เช่นนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น

ขณะเดียวกันเป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมแผนฯ ฉบับใหม่ไม่นำแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีมาคำนวณรวมทั้งหมด ซึ่งตามแผนจะลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 17,500 เมกะวัตต์ แต่กระทรวงพลังงานเลือกที่จะนำมาคำนวณรวมเพียงร้อยละ 20 หรือ 3,500 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงเหลืออีก 14,000 เมกะวัตต์ หากนำมาคำนวณรวมและทำตามแผนได้จะลดการลงทุนได้ 400,000 ล้านบาท และอาจจะไม่จำเป็นต้องเปิดประมูล IPP จำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ทั้งที่แผนอนุรักษ์พลังงานก็ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. และเสนอโดยกระทรวงพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ