ครม.อนุมัติหลักการจัดตั้งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศรองรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 5, 2012 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้อนุมัติหลักการให้จัดตั้งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศเกลี่ยอัตรากำลังและงบประมาณเท่าที่มีอยู่ไปยังหน่วยงานดังกล่าว และให้ยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศโดยประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน( ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วนำเสนอครม.โดยด่วนต่อไป

ทั้งนี้ ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่องการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ)เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย และให้กระทรวงการต่างประเทศรับไปยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบเลิกสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศมาเสนอครม.ในคราวเดียวกันโดยให้มีผลบังคับใช้สอดคล้องกับการจัดตั้งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

กระทรวงต่างประเทศ รายงานว่ การขอจัดตั้ง “กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Department of International Cooperation)" มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่จะกำกับดูแลภาพรวมนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการใช้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาให้เป็นเครื่องมือผลักดันนโยบายต่างประเทศ

โดยมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์สำคัญคือ 1.เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความมั่นคงและความมั่งคั่งของไทย โดยเฉพาะเมื่อประเทศในภูมิภาคกำลังจะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 หากประเทศในภูมิภาคมีระดับการพัฒนาที่ดีขึ้นปัญหาข้ามชาติต่าง ๆ อาทิ การค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติกฎหมาย ยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ ที่คุกคามความมั่นคงของประเทศไทยในปัจจุบันก็จะลดลง ขณะเดียวกัน ระดับการพัฒนาประเทศที่สูงขึ้นและขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจะเป็นโอกาสสำหรับการค้าและการลงทุนของไทยในประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

2. ความช่วยเหลือระหว่างประเทศจะเป็นเครื่องมือทางการทูตเพื่อบุกเบิกและส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความโน้มเอียง ความรู้สึกผูกพันกับประเทศไทยในระดับประชาชน และความคุ้นเคยกับแนวคิด แนวปฏิบัติและเทคโนโลยีของไทย (soft diplomacy) ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมกับประเทศนั้น ๆ ต่อไป

3. การที่ไทยมีหน่วยงานกลางดูภาพรวมด้านความช่วยเหลือระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบและครอบคลุมจะสะท้อนความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงของรัฐบาลไทยที่จะส่งเสริมสถานะของไทยเป็นประเทศผู้ให้ที่มีนโยบายก้าวหน้าและพร้อมที่จะมีบทบาทสำคัญในระดับโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยในสายตาของรัฐบาลและภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ