พาณิชย์ผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค.เพิ่มขึ้นจาก เม.ย.สูงสุดรอบ 8 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 5, 2012 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือน พ.ค.55 อยู่ที่ 27.4 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน เม.ย.55 ที่ระดับ 24.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน (หรือนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์อุทกภัย)

"จะเห็นว่าเศรษฐกิจของไทยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจุดต่ำสุด คือช่วงการเกิดมหาอุทกภัยในเดือน ต.ค.2554 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีวัฏจักรธุรกิจของไทย" นายยรรยง กล่าว

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือน เม.ย 55 อยู่ที่ 104.0 เพิ่มจาก 102.1 ในเดือนมี.ค.55 และ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ หอการค้าไทย เดือนพ.ค. 55 เท่ากับ 76.1 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนเม.ย. 55 เท่ากับ 67.5

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันเดือน พ.ค.55 เท่ากับ 18.5 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.55 ที่ระดับ 15.6 และ ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) เท่ากับ 33.4 ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.55 ที่ระดับ 30.0

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นในเรื่องรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ในเดือน พ.ค.55 ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 51.2 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.55 ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 47.8 เนื่องจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทส่งผลให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น รวมทั้งการปรับเงินเดือนระดับปริญญาตรีของข้าราชการแรกเข้าด้วย

แต่ทั้งนี้ประชาชนยังมีความกังวลต่อรายจ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงต่อค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

ปัจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. ประกอบด้วย ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง อีกทั้งรัฐบาลมีมาตรการชดเชยราคาพลังงาน, ครม.อนุมัติโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อย, ครม.มีมติขยายเวลามาตรการลดค่าครองชีพ รถเมล์และรถไฟฟรี ออกไปอีก 5 เดือน (สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 55), ชะลอการปรับขึ้นค่าเอฟที จากเดือน พ.ค. 55 เป็นมิ.ย. — ส.ค. 55, โครงการโชว์ห่วยช่วยชาติและโครงการธงฟ้าที่จัดขึ้นหลายจังหวัดเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน, กระทรวงพลังงาน มีมติให้ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG/NGV ออกไปอีก 3 เดือน (ตั้งแต่ 6 พ.ค. — 15 ส.ค. 55) และ คณะกรรมการ บขส. เห็นชอบให้ลดค่าโดยสาร บขส. ลงอีก 2 สตางค์ต่อ กม. (ตั้งแต่ 25 พ.ค. — 25 ส.ค. 55)

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ราคาสินค้าบางรายการยังมีราคาสูง เนื่องจากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าแรง ค่าพลังงาน และวัตถุดิบ, ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เปิดภาคเรียนใหม่, การปรับขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะ (ยกเว้น บขส.) และ ปัญหาการเมืองภายในประเทศและการชุมนุมทางการเมือง ทั้งเสื้อแดงชุมนุมครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์(วันที่ 19 พ.ค. 55) และการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ

สำหรับสถานการณ์ในอนาคตที่อาจส่งผลความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. 55 ได้แก่ ครม. มีมติให้ขยายเวลายกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปอีก 1 เดือน( มีผล 1 มิ.ย.- 30 มิ.ย. 55), กระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้ากว่า 200 ราย ให้ ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภค เป็นระยะเวลา 4 เดือน (มิ.ย.-ก.ย. 55), การแข่งขันฟุตบอลยูโร (8 มิ.ย. — 1 ก.ค. 55) ส่งผลให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เช่น โทรทัศน์ เครื่องดื่มและเบียร์ เป็นต้น และรัฐบาลอนุมัติงบประมาณรับซื้อสับปะรดกว่า 60,000 ตัน เพื่อบรรเทาปัญหาราคาตกต่ำ

ปัจจัยด้านลบ ได้แก่ ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและพลังงานที่มีความผันผวน, การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า(เอฟที) ในอัตราเพิ่มขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลตั้งแต่ในเดือนมิ.ย. 55, การชุมนุมทางการเมืองและการประชุมสภาฯ เกี่ยวกับพ.ร.บ.ปรองดอง ส่งผลต่อความเชื่อมั่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ