คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติให้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม โดยจะเก็บจากการจำหน่ายน้ำมันเบนซินอีก 90 สต./ลิตร แก๊สโซฮอล์ 30 สต./ลิตร และดีเซล 90 สต./ลิตร โดยคาดว่าสถานะกองทุนน้ำมันฯ จะกลับมาเป็นบวกภายใน 4 เดือน
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กบง.มีมติให้เรียกเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและดีเซลในอัตรา 90 สตางค์/ลิตร และแก๊สโซฮอล์ 30 สตางค์/ลิตร พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมัน บมจ.ปตท.(PTT) และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) ปรับลดราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันเบนซินและดีเซลลง 30 สตางค์ต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ 40 สตางค์/ลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
โดยวานนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงมาอยู่ที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากวันละ 81 ล้านบาท เป็นวันละ 143 ล้านบาท โดยมีผลหลังเที่ยงคืนวันที่ 6 มิถุนายนนี้ สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันยังคงติดลบอยู่ที่ 21,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่า หากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับนี้เฉลี่ยประมาณ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ก็คาดว่ากองทุนน้ำมันฯ จะกลับมาเป็นบวกภายใน 4 เดือนนี้ โดยหลังการปรับลดราคาน้ำมันครั้งนี้ทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันลดลง โดยเบนซิน 91 อยู่ที่ 1.70 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 1.80 บาท/ต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 2 บาท/ลิตร และดีเซลอยู่ที่ 1.70 บาท/ลิตร
รมว.พลังงาน กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้ลดลงมากกว่านี้ เนื่องจากเห็นว่า แม้ราคาน้ำมันลดลง แต่ราคาสินค้าและค่าขนส่งก็ไม่ได้ปรับลดลง ซึ่งประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์
ด้านนายชายน้อย เผื่อนโกสุม รักษาการผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) หรือ สบน. กล่าวว่า ถึงแม้ขณะนี้จะมีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ มากขึ้น แต่กองทุนน้ำมันฯ ยังจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท รวมเป็น 13,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท หากราคาน้ำมันดิบดูไบไม่เกิน 95 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพื่อมาดูแลสเถียรภาพของกองทุนน้ำมันฯ ที่ต้องจ่ายชดเชยการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี ที่จะครบกำหนดชำระ ประกอบกับราคาแอลพีจีในตลาดโลก ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 790 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ช่วยให้เงินชดเชยลดลงตามไปด้วย และปริมาณการนำเข้าลดลงตามการใช้ในภาคปิโตรเคมี เพราะโรงงานปิโตรเคมีปิดซ่อมบำรุง 2 แห่ง