In FocusWEF มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้ทรัพยากรในอนาคต

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 6, 2012 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้วสำหรับงาน World Economic Forum on East Asia 2012 ครั้งที่ 21 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ท่ามกลางบรรยากาศการต้อนรับอันอบอุ่นจากภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยไฮไลท์ของงานอยู่ที่การเข้าร่วมประชุมของนางออง ซาน ซูจี วีระสตรีแห่งประชาธิปไตยของพม่า ซึ่งถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกของเธอในรอบ 24 ปี และยังสามารถขโมยพื้นที่บนสื่อต่างๆ ไปจากเจ้าภาพไปได้หลายต่อหลายซีน ดังจะเห็นได้จากการติดตามของสื่อนับร้อยคนนับตั้งแต่การเดินทางมาถึงสนามบินไปจนถึงบทบาทการเยี่ยมแรงงานพม่าที่มหาชัย

นายกรัฐมนตรีไทยได้ใช้เวทีนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ด้วยการกล่าวแสดงความภูมิใจในการเป็นเจ้าภาพ World Economic Forum on East Asia ครั้งที่ 21 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับภาครัฐบาลและนักธุรกิจชั้นนำได้มาพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายในภูมิภาค โดยย้ำว่า รัฐบาลได้พยายามรักษาความสมดุลระหว่างการกระตุ้นการเติบโตและเสถียรภาพด้านราคา เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งภายหลังเหตุการณ์อุทกภัย

นอกจากนี้ ไทยยังได้ดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ อาทิ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย การเพิ่มผลผลิตของบริษัทต่างๆ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง

ด้านนางอองซาน ซูจี ซึ่งได้รับการจับตาเป็นพิเศษก็ได้ใช้โอกาสนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนขนาดใหญ่ในพม่าอย่างโปร่งใส พร้อมทั้งเรียกร้องให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่ามากขึ้น เพื่อสร้างงานให้กับชาวพม่า ตลอดทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ

ในการให้สัมภาษณ์นอกรอบนั้น นางมารี เอลคา พังเกสทู รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ของอินโดนีเซียก็ได้ถือโอกาสนี้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในอาเซียน โดยระบุว่า “ด้วยความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวของทั้งภูมิภาค อาเซียนได้ร่วมกันส่งเสริมกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยว ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้ทั้งภูมิภาคเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ท่องเที่ยวที่หลากหลายให้กับนักท่องเที่ยว"

ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว ภูมิภาคอาเซียนจะสามารถออกวีซ่าร่วมกันให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในทุกประเทศในภูมิภาค จากปัจจุบันที่อนุญาตให้เพียงนักท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเท่านั้นที่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า

ความสำคัญสำหรับอาเซียน

แถลงการณ์ของ World Economic Forum ระบุว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เป็นยุทธศาสตร์และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากมีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน ในขณะที่มีขนาดจีดีพีสูงกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะสูงกว่า 5% ในปี 2555 แม้ว่าจะยังคงมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในยุโรปและสหรัฐอยู่ก็ตาม ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อรับประกันความได้เปรียบในด้านการแข่งขันและโอกาสในการลงทุนที่ได้เหนือกว่าภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงข่ายการขนส่ง พลังงาน สุขภาพ การท่องเที่ยว บริการทางการเงิน และการเกษตร

ด้วยเหตุที่ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณใจกลางของภูมิภาค จึงเป็นสถานที่ดีที่สุดสำหรับการหารือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการกำหนดอนาคตของภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็ช่วยกันสร้างโมเดลเพื่อส่งเสริมการจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ เช่น การขยายตัวอย่างยั่งยืนและสมดุล

งาน World Economic Forum on East Asia จัดโดยบริษัท แม็คคินซีย์ แอนด์ โค และสามารถดึงดูดผู้นำในภาคธุรกิจและรัฐบาลจากทั้งภูมิภาค ซึ่งรวมไปถึงซีอีโอหลายคนจากธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น ประธานและซีอีโอของบมจ.ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ได้ให้เกียรติมาร่วมและกล่าวปาฐกถาในงาน

ริชาร์ด บ็อบส์ ผู้อำนวยการแม็คคินซีย์ กล่าวว่า งาน World Economic Forum on East Asia หมายถึงโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับเอเชีย และเป็นการประชุมในเรื่องความต้องการด้านทรัพยากรพลังงาน วัตถุดิบ น้ำ และ อาหาร

รายงานของแม็คคินซีย์ ระบุว่า ในศตวรรษที่ 20 แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีราคาถูกถือเป็นกลไกในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่อุปทานและศักยภาพด้านการผลิตที่เพิ่มขึ้นมีความสอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความต้องการที่พุ่งขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ผลักดันให้ราคาทรัพยากรเพิ่มขึ้นถึง 150% นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของทศวรรษ

คาดว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า อุปสงค์เหล็กกล้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 80% ซึ่งการหาแหล่งทรัพยากรในช่วงดังกล่าว จะกลายเป็นความท้าทายและมีราคาที่สูงมาก ในขณะที่ต้นทุนการขุดเจาะและนำน้ำมันมาใช้ก็เพิ่มขึ้น 100% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก การใช้ทรัพยากรน้ำ ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากการบริโภคทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นในเรื่องระบบอุปทานด้านทรัพยากรซึ่งมีปริมาณจำกัด

หากไม่มีการดำเนินการ เพื่อเพิ่มอุปทานแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและบรรลุเป้าหมายตามขั้นตอนการนำทรัพยากรมาใช้ ตลอดทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว เศรษฐกิจโลกก็อาจจะเข้าสู่ยุคทรัพยากรราคาแพงและมีความผันผวนเป็นอย่างยิ่ง

บ็อบส์กล่าวว่า “การเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องการบริหารแหล่งทรัพยากรของโลกเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในช่วง 20 ปีข้างหน้า ทั้งในแง่อุปทานและประสิทธิภาพการผลิต แต่ข่าวดีก็คือยังมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเมื่อพิจารณาจากความก้าวหน้าด้านประสิทธิภาพของแรงงานในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยคาดว่า ประสิทธิภาพด้านการผลิตทรัพยากรหลัก 4 ประเภท อันได้แก่ พลังงาน ที่ดิน วัตถุดิบ (เหล็ก) และ น้ำ อาจเพิ่มขึ้น 30% ของปริมาณอุปสงค์ทั้งหมดภายในปี 2573"

แม็คคินซีย์ระบุว่า ทุกประเทศในอาเซียนได้นำเสนอโอกาสการลงทุน ประสิทธิภาพด้านการผลิตทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันมากถึง 15% ของโอกาสในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก

ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานภายในอาคารที่พักอาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์จะช่วยเพิ่มผลประโยชน์ให้กับภูมิภาคได้สูงถึง 19% โดยสามารถลดความต้องการใช้พลังงานลงได้มากถึง 31 QBTU ซึ่งสูงกว่าปริมาณการใช้พลังงานทั่วโลกของอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือและเครื่องบินรวมกันถึง 20%

นายเจอราด เมสทราเลต ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท GDF SUEZ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของฝรั่งเศส กล่าวว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้อาเซียนมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น จากการศึกษาคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าในภูมิภาคนี้จะมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นมากถึง 3 แสนเมกะวัตต์ หรือคิดเป็นเงินลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอัตราดังกล่าวอยู่บนฐานของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในระดับ 5-6% ต่อปี และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% ต่อปี สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นการสร้างภาระต่องบประมาณของแต่ละประเทศอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากภาคเอกชนในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าร่วมกับภาครัฐ

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศต่างๆในอาเซียนกำลังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยง (Connectivity) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ประชุมครั้งนี้ได้หารือกันในเรื่องการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมไม่ว่าจะเป็นถนน และทางรถไฟ ขณะที่ในด้านพลังงานประเทศต่างๆในอาเซียนได้หารือกันในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานโดยการเชื่องโยงสายส่งไฟฟ้าหรือ "ASEAN Power Grid" และการเชื่อมโยงท่อส่งน้ำมันและท่อส่งก๊าซ "ASEAN Pipe line" ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนได้ผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

นายโจเซฟ สติกลิตซ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวกับนักข่าวในระหว่างการประชุมว่า เขามั่นใจกับการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์และการประสานงานของกลุ่มประเทศสมาชิก พร้อมกับแนะนำให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงด้านการศึกษาและจัดตั้งสถาบันระดับภูมิภาคเพื่อกำกับดูแล เช่น สถาบันพัฒนาอาเซียน และสถาบันพัฒนากองทุนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อเปิดทางให้สมาชิกได้เข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น

ถึงแม้จะดูเหมือนว่า งานนี้สตรีจะมีบทบาทที่โดดเด่นกว่าบุรุษในเรื่องการขโมยพื้นที่บนสื่อต่างๆ แต่สิ่งที่ทุกคนอยากเห็นและร่วมกันผลักดันก็คือการจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของภูมิภาคในอนาคต ตลอดทั้งยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวนับเป็นการเปิดโอกาสให้กับทั้งภาคธุรกิจในภูมิภาคและรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ