อียูเผยร่างแผนใหม่เพื่อรับมือวิกฤตธนาคารในอนาคต

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 6, 2012 22:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยร่างแผนการใหม่ ที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นของธนาคารที่มีปัญหาต้องแบกรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแทนที่จะเป็นประชาชนผู้เสียภาษี

แผนดังกล่าวซึ่งประกาศโดยนายมิเชล บาร์นิเยร์ สมาชิกคณะกรรมาธิการตลาดภายในของสหภาพยุโรป (อียู) เสนอให้มีการใช้ "กลไกแก้ไขปัญหา" ซึ่งจะทำให้หน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติมีอำนาจบังคับให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้เป็นผู้แบกรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น และอาจถึงขั้นสามารถสั่งให้ยุบและขายธนาคารที่มีปัญหาได้

"วิกฤตการเงินทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีต้องเสียเงินไปมากแล้ว" นายบาร์นิเยร์แถลงข่าวที่กรุงบรัสเซลส์

“เราต้องให้เครื่องมือแก่หน่วยงานภาครัฐเพื่อที่จะสามารถจัดการวิกฤตในภาคธนาคารในอนาคตได้อย่างเพียงพอ มิฉะนั้น ประชาชนก็จะเป็นผู้แบกรับภาระอีกครั้ง ขณะที่ธนาคารที่ได้รับความช่วยเหลือจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปเช่นเดิม เมื่อรู้ว่าจะได้รับความช่วยเหลืออีกครั้ง”

แถลงการณ์ของคณะกรรมการระบุว่า ประเด็นสำคัญของแผนดังกล่าวก็คือกฎระเบียบที่จะบังคับให้ธนาคารต่างๆต้องจ่ายเงินเข้า “กองทุนแก้ไขปัญหา” ซึ่งจะสามารถนำเงินกองทุนดังกล่าวมาใช้จัดการกับการล้มละลายของภาคธนาคารในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561 เพื่อให้ธนาคารต่างๆมีเวลาในการระดมเงินทุนพิเศษดังกล่าว

ภายใต้ข้อเสนอนี้ จะมีการกำหนดให้ธนาคารในยุโรปต้องร่าง “แผนการแก้ปัญหาสำหรับการป้องกันและเตรียมความพร้อม” ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดแนวทางที่ธนาคารจะสามารถรับมือได้อย่างรวดเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อประสบปัญหา

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวยังจะให้อำนาจแก่หน่วยงานระดับประเทศในการแทรกแซง ซึ่งรวมถึงการปลดเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อธนาคารมีแนวโน้มจะล้มละลาย และเมื่อการแทรกแซงโดยเร็วในเชิงป้องกันประสบความล้มเหลว ก็จะมี “การแก้ไขปัญหา” สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ