ก.พลังงาน หนุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศ นำร่อง 4 แห่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 7, 2012 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า จากแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งส่งเสริมให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 25% ภายใน 10 ปีนี้ โดยภายใต้แผนดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน 500 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในชุมชน ต่างๆ โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และให้เกษตรกรและชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าร่วมกัน ซึ่งจะสร้างรายได้ต่อชุมชนและลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล รวมทั้งเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

โดยเบื้องต้นจะมีโรงไฟฟ้านำร่อง 4 แห่ง เช่น พื้นที่นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จ.อุดรธานี จะมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหญ้าเลี้ยงช้างในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 1,000 ไร่ เพื่อนำมาปลูกวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ มูลค่าก่อสร้างประมาณ 60-70 ล้านบาท โดยแผนงานจะนี้จะให้เอกชนและชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าในสัดส่วน 20 ต่อ 80

ส่วนกรณีที่องค์กรเอกชน(NGOs) คัดค้านแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว(PDP) 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในการทำประชาพิจารณ์ได้เปิดโอกาสให้ซักถามและชี้แจงให้เข้าใจแล้วว่า แผนดังกล่าวได้มีการบรรจุเรื่องแผนอนุรักษ์พลังงานในสัดส่วน 20% จากแผนระยะยาว(2553-2573) ซึ่งจะลดการใช้พลังงานลง 25% เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าต้องการสร้างความมั่นคง จึงไม่ได้นำแผนอนุรักษ์พลังงานทั้งหมดมาคำนวณรวม และต้องการให้แผนเดินหน้าไปก่อน

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า กระทรวงพลังงานจะจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ในปีนี้ซึ่งเป็นแผน PDP2012 โดยจะนำนโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งแผนอนุรักษ์ และแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนมาจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ในแผน PDP ฉบับปรับปรุง จะนำเข้าเสนอต่อคณะกรรมการนโยลายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)วันพรุ่งนี้ โดยจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ ด้วยนั้น เป็นเพียงนโยบายที่กำหนดไว้เพื่อให้เกิดการศึกษาข้อดีข้อเสียเท่านั้น และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะก่อสร้างจริงแต่อย่างใด

นายอารักษ์ กล่าวด้วยว่า ในการเดินทางไปยังสหภาพพม่าที่ผ่านได้มีการหารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งพลังงานในพม่ามาใช้ รวมถึงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้า เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจัดตั้งคณะทำงานมาช่วยเหลือในการพัฒนาเรื่องดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้เชื่อว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ จะช่วยให้ไทยสามารถเข้าไปร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานในพม่าได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียงแหล่งยานาดาที่ส่งก๊าซธรรมชาติเข้ามาไทยในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ