นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า นโยบายการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลัง เป็นการขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันรับซื้อเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีราคาแพงกว่าเอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาล(โมลาส) โดยไม่ได้เจาะจงช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม
โดยการตัดสินใจว่าจะรับซื้อเอทานอลจากโรงงานใดนั้น เป็นการตัดสินใจของผู้ค้ามาตรา 7 ที่เข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันมี 3 ราย ได้แก่ บมจ.ปตท.(PTT), บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) และ บมจ.ไทยออยล์(TOP) ส่วนผู้ผลิตเอทานอลที่เข้าร่วมโครงการมี 2 ราย ได้แก่ บริษัท ทรัพย์ทิพย์ จำกัด และบริษัท พี.เอส.ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ค้าน้ำมันจะแจ้งปริมาณการซื้อเอทานอลจากโรงงานดังกล่าว โดยปตท.รับซื้อเอทานอลจากบริษัท ทรัพย์ทิพย์ 12.2 ล้านลิตร และบริษัท พี.เอส.ซี สตาร์ชฯ 4 ล้านลิตร, ส่วนบางจากฯ รับซื้อเอทานอลจากบริษัท พี.เอส.ซี สตาร์ชฯ 7.4 ล้านลิตร ขณะที่ไทยออยล์ รับซื้อเอทานอลจากบริษัททรัพย์ทิพย์ฯ 0.8 ล้านลิตร
นายประพนธ์ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวได้ขอกรอบวงเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากเดิมที่คาดว่าจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลจากมันสำปะหลังเฉลี่ยประมาณ 6 บาท/ลิตร คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 180 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 เดือน (เดือน พ.ค.-ก.ย.55) คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 24 ล้านลิตร แต่ราคารับจำนวนมันเส้นของกระทรวงพาณิชย์เพิ่มขึ้น จากเดิมแจ้งไว้ที่ 7,300 บาท/ตัน (7.3 บาท/กก.) เพิ่มเป็น 7,900 บาทต่อตัน (7.9 บาท/กก.) ทำให้วงเงินชดเชยเดิมไม่เพียงพอ
นายประพนธ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการสมัครใจ เพื่อให้ผู้ค้าน้ำมันช่วยซื้อเอทานอลจากมันสำปะหลัง ซึ่งมีราคาแพงกว่าเอทานอลจากกากน้ำตาล โดยกระทรวงฯ ได้กำหนดระยะเวลาในการช่วยเหลือ 5 เดือน ตั้งเป้าไว้ที่ 24 ล้านลิตร หรือคิดเป็น 10% ของความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมดอยู่ที่ 1.3 ล้านลิตร/วัน