ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ(กนร.) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ให้นำกลับไปจัดทำรายละเอียดแล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุมฯ อีกครั้งภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
"จะกลับไปตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดเพื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุมฯ อีกครั้ง" นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม กล่าว
โดยคณะอนุกรรมการ 2 ชุดที่จะตั้งขึ้นนี้ ชุดแรกจะไปดูเรื่องการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างภายในองค์กร เช่น การเออร์รี่รีไทร์ของพนักงาน ขสมก.ราว 2.4 พันคน ส่วนคณะอนุกรรมการอีกชุดจะไปดูเรื่องการจัดหารถโดยสารที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 3,183 คัน มูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งสองเรื่องจะต้องหาข้อสรุปให้เสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
ส่วนกรณีที่มีคำแนะนำให้ ขสมก.นำพื้นที่อู่จอดรถมาหารายได้นั้น รมช.คมนาคม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่มีศักยภาพเหมือนการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ขณะเดียวกัน ขสมก.มีหนี้สะสมอยู่ราว 7.6 หมื่นล้านบาท
รมช.คมนาคม ยังกล่าวถึงการพิจารณาปรับลดค่าโดยสารรถสาธารณะหลังสถานการณ์ราคาน้ำมันลดลงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว โดยยังคงตรึงราคาไว้เท่าเดิม แต่หากจะมีการปรับลดค่าโดยสารลงนั้นคงเป็นเรื่องตามความสมัครใจของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังพิจารณาความคืบหน้าการจัดทำแผนปรับบทบาท(พลิกฟื้น) ขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การสะพานปลา องค์การคลังสินค้า องค์การตลาด องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
ซึ่งในส่วนขององค์การตลาด(อต.) อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ฯ โดยจะดำเนินการเพิ่มบทบาทของตลาด 5 แห่งทั่วประเทศไทยให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าชุมชนและปัจจัยผลิตทางการเกษตร นอกจากการเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าบริโภคและอุปโภคโดยทั่วไป
องค์การคลังสินค้า(อคส.) ขณะนี้แผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูฐานะทางการเงินและทบทวนของ อคส.อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ก่อนนำเสนอ กนร.ต่อไป โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเน้นไปที่การเป็นผู้ให้บริการธุรกิจคลังสินค้าและบริการสินค้าเกษตรครบวงจร และปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ประสานงานด้านสินค้าเกษตรเป็นผู้จำหน่ายไปยังผู้บริโภค โดยผ่านช่องทางผู้ค้าส่ง ร้านค้าพันธมิตรหรือตัวแทนจำหน่ายประจำจังหวัดทั่วประเทศ
องค์การตลาดเพื่อการเกษตรกร(อ.ต.ก.) ในการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี 2555 สคร.ได้กำหนดให้ อ.ต.ก.ทบทวนแผนปรับบทบาทและปรับปรุงแผนปรับบทบาท(พลิกฟื้น) อ.ต.ก.ปีบัญชี 2555-2558 และจัดทำแผนปฏิบัติการ ประจำปีบัญชี 2556 โดยเพิ่มประเด็นที่ทบทวน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล การพัฒนากิจการค้าเพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้แก่องค์กร และการบริหารจัดการด้านการเงินขององค์กร โดยขณะนี้ อตก.ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนการปรับบทบาทแล้ว โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ สคร.ร่วมกับ อตก.นำเสนอแผนต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำเสนอ กนร.พิจารณาอีกครั้ง
องค์การสะพานปลา(อสป.) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 เรื่อง การพิจารณาย้าย อสป. เพื่อให้ อสป.สามารถพัฒนาโครงการสะพานปลากรุงเทพตามแผนที่วางไว้โดยต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินโครงการต่อไปด้วย ทั้งนี้ อสป.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางดำเนินการโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ เพื่อทำหน้าที่เจรจากับกรมธนารักษ์ในเรื่องการต่อสัญญาเช่าระยะยาว (30 ปี) และเจรจาร่วมกับสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครหรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหารูปแบบการดำเนินงานและการลงทุนที่เหมาะสม
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้ดำเนินการจัดทำแผนวิสาหกิจ ประจำปี 2555-2559 และแผนปฏิบัติการประจำปี 2555 แล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ อ.ส.ค.เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากเหตุอุทกภัยในปลายปี 2554 ส่งผลกระทบให้ อ.ส.ค.มีรายได้ค่าใช้จ่ายและกำไรสุทธิในปีงบประมาณ 2555 ลดลง ดังนั้น อ.ส.ค. จึงต้องปรับเป้าหมายประมาณการงบกำไรขาดทุน ซึ่งขณะนี้ อ.ส.ค.ได้จัดส่งแผนวิสาหกิจ ประจำปี 2555-2559 และแผนปฏิบัติการประจำปี 2555 ให้ สคร.พิจารณา
บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด(บอท.) มติที่ประชุมกนร. ครั้งที่ 1/2555 เห็นควรให้ บอท.ศึกษาแผนธุรกิจเพิ่มเติม ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการร่วมมือกับภาคเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ บอท. และในส่วนของลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย โดยให้กำหนดแผนการดำเนินการประมาณการทางเงินที่ชัดเจน ตลอดจนแนวทางการจัดการพื้นที่สถานประกอบการเดิม(ยานนาวา) ให้มีความเสี่ยงที่น้อยลง และการพิจารณาการพัฒนาพื้นที่สถานที่ประกอบการเดิม (บริเวณยานนาวา) ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนานั้น หากมีความเหมาะสมทางการเงินและมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ บอท. ก็ไม่ขัดข้องที่จะดำเนินการตามทางนี้
และที่ประชุมฯ มีมติรับทราบการยุติบทบาท บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) โดยการยุบเลิกตามที่คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ที่มีมติรับทราบและเห็นชอบตามผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ครั้งที่ 1/2554 เนื่องจาก บทด. ไม่มีเรือในความครอบครอง และไม่มีธุรกรรมการเดินเรือใดๆ ประกอบกับธุรกิจที่เอกชนสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี รัฐจึงไม่มีความจำเป็นต้องให้บริการในธุรกิจดังกล่าว ซึ่ง สคร.ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะนำเสนอผลการประชุม กนร.ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป