นายสุทัศน์ ปัทมศิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายแห่งชาติ(กพช.) มีมติเห็นชอบโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวในโครงการเซเปียน - เซน้ำน้อย กำลังการผลิต 390 เมกะวัตต์ โดยจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงเดือนส.ค.61 ส่งผ่านเข้าระบบสายส่งบริเวณชายแดนจังหวัดอุบลราชธานี คิดอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.30 บาท/หน่วย
ทั้งนี้ มีสัญญาโครงการ 27 ปี เป็นการร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัทจากประเทศเกาหลี ถือหุ้นร่วม 51% บมจ. ราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) 25% และ บริษัท ลาว โฮลดิ้ง จำกัด 24% เพื่อแก้ปัญหาความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เพียงพอในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งโครงการนี้อยู่ในกรอบข้อตกลงความร่วมมือ ไทย-ลาว จำนวน 7,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ดี ได้มีการเจรจาโครงการน้ำเงี๊ยบจำนวน 269 เมกะวัตต์ ที่จะเข้าระบบในปี 2561 ส่วนการทำข้อตกลงระหว่างไทย-พม่า จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ ยังไม่มีความคืบหน้า
นายสุทัศน์ กล่าวด้วยว่า กฟผ.พร้อมปฏิบัติตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ระหว่างปี 2553-2573 (พีดีพี 2010) ปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่ กพช.มีมติออกมา ส่วนกรณีการปรับลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเหลือประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ รัฐบาล ได้มอบหมายให้ กฟผ.เป็นผู้ก่อสร้างเองทั้งหมด รวมถึงการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต โดยโรงไฟฟ้าแรกจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ในปี 61
สำหรับการสำรองไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)หน้าร้อนลดลง นายสุทัศน์ กล่าวว่า กฟผ.มีแผนในการบริหารการสำรองไฟฟ้าปีหน้าด้วยการชะลอการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าช่วงหน้าร้อนออกไปก่อน เพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอกับความต้องการใช้ ขณะที่การสำรองไฟฟ้าระหว่างปี 59-64 จะไม่พบปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ เนื่องจากจะมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบเพิ่มขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าวังน้อย 4, โรงไฟฟ้าจะนะ 2, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 2 และโรงไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่อื่นๆ