(เพิ่มเติม) กพช.ให้ EGCO สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 900 MWทดแทนโรงไฟฟ้าขนอม, อนุมัติแผน PDP

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 8, 2012 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าขนอมตามที่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO) เสนอ เพื่อผลิตไฟจำนวน 900 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้าขนอมเดิมที่จะหมดอายุลงในปี 59

ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าภาคใต้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะพิจารณาวางกรอบรับซื้อไฟฟ้าโดยคำนึงถึงระยะเวลาการดำเนินโครงการ ราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความพร้อมด้านมวลชนสัมพันธ์และการยอมรับของประชาชนรอบพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า

รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานพิจารณากรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน IPP และ SPP รอบใหม่ ตลอดจนให้ บมจ.ปตท.(PTT)จัดทำร่างแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 และนำเสนอ กพช. พิจารณาเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ กพช.ได้พิจารณาแนวทางการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยรับทราบเหตุผล ความจำเป็นของการมีสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ของประเทศในเบื้องต้น และเห็นชอบในหลักการให้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาลสำหรับบริหารจัดการในภาวะวิกฤต สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนรวมถึงนักลงทุนว่าจะมีน้ำมันใช้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน ตลอดจนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขยายความร่วมมือด้านพลังงานในกลุ่มอาเซียน และประเทศผู้ใช้รายใหญ่ เช่น จีน โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อจัดตั้งการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ของประเทศต่อไป

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กพช.มีมติให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาเรื่องแนวทางการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อความมั่นคงและเป็นเครื่องมือรองรับการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติในการป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและเป็นเครื่องมือในการขยายความร่วมมือด้านพลังงานไปในกลุ่มอาเซียน โดยจะมีการเพิ่มการสำรองน้ำมันทางกฎหมายจากปัจจุบันอยู่ที่ 36 วัน เป็น 90 วัน ซึ่งต้องมีการลงทุนคลังน้ำมัน รวมทั้งการจัดซื้อน้ำมันรวมเป็นวงเงิน 200,000 ล้านบาท

ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาว่าวงเงินลงทุนจะมาจากแหล่งไหน เบื้องต้นอาจเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แต่อย่างใด ในขณะเดียวกันจะต้องมีการร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรการสำรองน้ำมัน คาดว่าจะใช้เวลาจัดตั้งได้เร็วสุดภายใน 4-5 ปีข้างหน้านี้

อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานในระยะสั้น กระทรวงพลังงานจะประกาศเพิ่มการสำรองน้ำมันทางกฎหมายโดยเอกชนจาก 5% ของการนำเข้าน้ำมัน เป็น 6% หรือเพิ่มจาก 36 วัน เป็น 43 วัน

นอกจากนี้ กพช.มีมติให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) สร้างคลังเก็บก๊าซแอลพีจีรองรับการนำเข้า โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ วงเงินรวม 48,000 ล้านบาท โดยระยะแรกจะมีการขยายคลังนำเข้าที่เขาบ่อยา จังหวัดชลบุรี เพิ่มการจัดเก็บจาก 1.2 แสนตัน เป็น 2.5 แสนตัน ส่วนระยะที่ 2 จะมีการจัดสร้างคลังในพื้นที่ใหม่อีก 2.5 แสนตัน โดย ปตท.จะได้ผลตอบแทนการลงทุนในรูปแบบของการบวกเพิ่มในราคาก๊าซหุงต้มในอัตราไม่เกิน 30 สตางค์ต่อกิโลกรัม

ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาวสำหรับจำหน่ายให้แก่ประเทศไทย ซึ่งมีขนาดกำลังผลิต 390 เมกะวัตต์ โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการนี้กับผู้พัฒนาโครงการต่อไป

อีกทั้ง เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 53 — 73 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) โดยปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เช่น โครงการรถไฟฟ้า 10 สายหลักในกรุงเทพฯ และโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมทั้งให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (54-73) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (55-64) ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศไทย การปรับปรุงแผน PDP 2010 ฉบับใหม่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไม่ต่ำกว่า 15% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ส่วนการจัดหาไฟฟ้าในอนาคตจะพิจารณาจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายในปี 2573 เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 10%ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด จากเดิมในแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5%

การจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะลดสัดส่วนจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ลงเหลือสัดส่วนไม่เกิน 5 %ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบ โดยเลื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี จากปี 66 เป็นปี 69 เพื่อขยายเวลาเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยจากบทเรียนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น และสร้างการยอมรับจากประชาชน

สำหรับการจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะพิจารณาความจำเป็นด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ การยอมรับของประชาชน และเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าต่างประเทศกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไม่เกิน 15%ของกำลังผลิตทั้งหมดในระบบ

นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จะมีการกำหนดเพิ่มเติมจากแผนเดิม มีการเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขยายเป้าหมายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาสูงขึ้น ตลอดจนปรับลดปริมาณการปล่อย CO2 จากภาคการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ คาดว่าแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จะทำให้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้นเมื่อถึงปี 73 ประมาณ 70,686 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ