ภาคเอกชนห่วง AEC กระทบ SMEs แนะรัฐกำหนดเป้าส่งเสริมใน 5-10 ปีให้ชัดเจน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 11, 2012 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ในปี 58 นั้นต้องไม่มองเฉพาะด้านดีที่จะทำให้สามารถขยายตลาดการค้าจาก 65 ล้านคนในประเทศ เป็น 600 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น แต่จะต้องมองถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาด้วยจากการที่ประเทศในอาเซียนจะสามารถเข้ามาทำตลาดในไทยได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ดังนั้นไทยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและศักยภาพในธุรกิจของตัวเองว่ามีมากน้อยเพียงใดที่จะเข้าสู่ตลาดอาเซียน เรียนรู้ถึงจุดแข็ง และจุดอ่อนของภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้ถึงความต้องการในเชิงลึกของแต่ละประเทศในอาเซียนด้วย ไม่ว่าจะเป็น ด้านวัฒนธรรมและความเป็นอยู่

"อย่ามองแต่แค่โอกาส(ที่จะเข้า AEC) แต่เรายังมีผลกระทบด้วย เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวรับว่าจะแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างไร ถ้าแข่งไม่ได้ ก็ต้องปรับตัว" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวในงานสัมมนาวาระแห่งชาติเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เรื่อง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 และผลกระทบต่อธุรกิจของประเทศ"

นายพงษ์ศักดิ์ เห็นว่า เป็นความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนได้เห็นแนวทางที่ชัดเจนว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะไปทางไหน รวมถึงการช่วยเหลือในด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ และการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในส่วนของ่ผู้ประกอบการรายใหญ่น่าจะมีความพร้อมในการเข้าสู่ AEC แล้ว แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก ซึ่งมองว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีความพร้อม เพียงแต่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเสริมในด้านการจัดการ รวมทั้งการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ

"บริษัทใหญ่ไม่น่าห่วง แต่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กนี่สำคัญ โดยเฉพาะขนาดกลาง ผมเชื่อว่าเขามีความพร้อมถ้าเราชี้ทางให้เขา ซึ่งภาครัฐเองก็ต้องเข้ามาช่วยในด้านการจัดการ การลดค่าใช้จ่าย เราเชื่อว่าเขาปรับตัวได้" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ด้านนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การเข้าสู่ AEC ที่จะต้องมีการเปิดเสรีทางการเงินในกลุ่มอาเซียนมากขึ้นนั้น มองว่าภาคการธนาคารถือว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะหากดำเนินนโยบายการลงทุนที่ผิดพลาดย่อมจะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจและมีผลกระทบไปถึงลูกค้าของธนาคาร

ขณะที่การเปิดเสรีทางการเงินดังกล่าวจำเป็นต้องคัดเลือกคุณภาพของสถาบันการเงินที่จะไปเปิดสาขาในต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีหลักเกณฑ์ในการรับรองคุณภาพของธนาคาร(Qualify Bank) เพื่อให้มีคุณสมบัติที่เพียงพอ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนของหลักเกณฑ์ดังกล่าวเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีทางการเงินที่มากขึ้นนี้ ไม่เพียงแต่สถาบันการเงินของไทยจะต้องพิจารณาเรื่องการเข้ามาเปิดสาขาของต่างชาติเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องพิจารณาผลิตภัณฑ์ทางการเงินของสถาบันการเงินต่างชาติที่จะเข้ามาในไทยให้มากขึ้น ว่าเข้ามาแล้วจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่เป็นพิษหรือไม่(Toxic Asset)

"ในอนาคตเราต้องหาความรู้เกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินข้ามพรมแดนเวลาที่ต่างประเทศเข้ามา คงไม่ใช่แค่การที่เขาจะเข้ามาเปิดสาขาในไทยเท่านั้น คงต้องดูด้วยว่าผลิตภัณฑ์นั้น เป็นสินทรัพย์ที่เป็นพิษด้วยหรือไม่" นายธวัชชัย กล่าว

นายธวัชชัย กล่าวว่า การเตรียมตัวในระยะสั้นต่อการเข้าสู่ AEC คือ จำเป็นต้องมี Big Push จากภาครัฐ เพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางที่ส่วนใหญ่แล้วคนไทยจะเป็นเจ้าของกิจการเอง ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มนี้มีศักยภาพสูงแต่ยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่นั้น มองว่าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งมีน้อยที่คนไทยจะเป็นเจ้าของเอง ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะไปลงทุนในต่างประเทศนั้นจึงเป็นการตัดสินใจโดยต่างชาติที่เป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่า

"ธุรกิจขนาดใหญ่ในบ้านเรา มักไม่ใช่เราเป็นเจ้าของ แต่มักเป็นชาวไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือจีน เพราะฉะนั้นการตัดสินใจจะไปลงทุนในต่างประเทศจึงไม่ใช่เรา...ในแง่ยุทธศาสตร์นั้น เราควรมองไปที่ธุรกิจขนาดกลาง เพราะถือว่าเป็นน้ำพักน้ำแรงของเราจริงๆ ซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูง เพียงแต่อาจยังไม่คุ้นเคยกับการไปลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นต้องมี big push จากภาครัฐ" นายธวัชชัย กล่าว

นายธวัชชัย มองว่า ธุรกิจของไทยที่มีศักยภาพและควรส่งเสริมให้ไปลงทุนในต่างประเทศ คือ อุตสาหกรรมก่อสร้างในขนาดกลาง เพราะธุรกิจนี้ของไทยได้รับการยอมรับในเรื่องฝีมือแรงงาน แต่ทั้งนี้การออกไปลงทุนดังกล่าวควรทำเป็นคลัสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง, เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดโอกาสในการประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า

สำหรับระยะยาวเพื่อการรองรับการเข้าสู่ AEC นั้น จะต้องมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจของตัวเอง คงไม่ใช่แค่เพียงการรับจ้างผลิตแบบเดิมๆ นอกจากนี้การปฏิรูปการศึกษาก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการเช่นกัน

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกภาคส่วน ระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจการค้า เพื่อใช้เป็นข้อมูลจัดทำร่างยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ และรับมือการก้าวสู่เออีซี ซึ่งต่อไปจะรวมเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน และเกิดการแข่งขันในภูมิภาค

สำหรับการดำเนินงานของประเทศไทยเพื่อรองรับการเปิดเออีซี ตามตัวชี้วัดเออีซี สกอร์ คาร์ด เมื่อปี 53-54 ไทยสามารถปฏิบัติได้ตามเป้าหมายแล้ว 70 ขณะที่ผลรวมการดำเนินการของอาเซียนอยู่ที่ 56.4% ขณะเดียวกันสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงจากการเปิดเสรีอาเซียนแก่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เอสเอ็มอีให้รู้จักใช้ประโยชน์จากข้อตกลง รวมทั้งสามารถบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ