นักธุรกิจไทยมั่นใจรับมือ AEC แนะปรับตัว-วางกลยุทธ-โครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 12, 2012 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวสัมมนาเรื่อง"ผลกระทบการก้าวสู่ AEC และกลยุทธการปรับตัวของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม"ในงานสัมมนา"กลยุทธ์เหนือชั้นสู่ประตู AEC"ซึ่งจัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความเข้มแข็งรองรับการเปิด AEC ได้ แต่การมุ่งแต่การส่งออกเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องหันมานำเข้าสินค้าด้วยเพื่อสร้างความสมดุล

ทั้งนี้ ในราวเดือน พ.ย.-ต.ค.55 ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้สูงถึง 2 ล้านคันในปีนี้ ซึ่งช้ากว่าเดิมที่คาดว่าจะผลิตได้ในปี 54 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน และคาดว่าในปี 58 ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 2.5 ล้านบาท โดยศักยภาพการผลิตรถยนต์ของไทยยังเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน อินโดนีเซีย เป็นอันดับ 2 และมาเลเซีย เป็นอันดับ 3 ขณะที่การเปิด AEC มองว่าเป็นผลบวกต่อไทย เพราะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะมีประชากรอาเซียนมากถึง 619 ล้านคน มีขนาดจีดีพีที่ 1.97 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

"ปัญหาคือนักธุรกิจไทยยังไม่รู้จัก AEC แต่ยังตระหนกกับ AEC ซึ่งหากมองความต่างระหว่างอียูกับอาเซียน ต่างกัน เช่น ในเรื่องการที่อียูมีการตั้งเป็นนิติบุคคล มีการวางแผนมานานแล้ว และใช้เงินสกุลเดียว มีธนาคารกลางยุโรป แต่อาเซียน เพิ่งเริ่มคิดเป็น AEC เมื่อ 5 ปี ยังไม่มีแผนใช้เงินสกุลเดียวกัน ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาเหมือนกรีซ เรายังค่อยๆเป็นคอ่ยไป เปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์" นายนินนาท กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายนินนาท ได้แนะกลยุทธการรับมือ AEC โดยนักธุรกิจไทยจะต้องมีการปรับปรุงขีดความสามารถการแข่งขัน มีการเตรียมความพร้อมรองรับที่ดี มีการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ เช่น การวางแผนด้านพลังงาน ที่ต้องตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะมุ่งใช้เชื้อเพลิงประเภทใด และเมื่อถึงปี 58 มีการเปิดเสรีให้มีรถยนต์เข้าออกประเทศได้ง่าย รัฐบาลจะยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานหรือไม่ นอกจากนีร้ะจต้องให้ความสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการศึกษา ต้องเริ่มสอนให้รู้จักภาษาอย่างน้อย 3 ภาษา และฝึกความรู้ด้านไอที เนื่องจากตลาดจะมีการแข่งขันมากขึ้น

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในภาคเกษตรและอาหาร จะต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิด โดยเลือกทั้งจะทำเป็น Cluster ในการผลิตสินค้า เพราะการแข่งขันหลังเปิด AEC ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา แต่ขึ้นอยู่กับ สังคม สิ่งแวดล้อม และการแข่งขันร่วมกัน

นอกจากนี้ ในภาคเกษตรต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต การเพาะปลูก จากที่ให้ผลตอบแทนต่ำ มาหาแนวทางเพื่อให้ผลิตภาพสูงขึ้นภายใต้พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม มีการจัดลำดับความสำคัญของพืชพลังงาน พืชเกษตร และให้คำนึงด้าน demand side อย่ามุ่งแต่ผลิตสินค้ามีคุณภาพเพื่อส่งออก แต่ควีคำนึงถึงการบริโภคในประเทศด้วย

นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง(RAM) กล่าวถึง ผลกระทบการก้าวสู่ AEC และกลยุทธการปรับตัวของธุรกิจในภาคบริการ ว่า หลังเกิด Asean Free Trade จะทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาทำธุรกิจโรงพยาบาลในไทยได้ง่าย ให้ต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49% และเพิ่มเป็น 70% ในปี 58 อาจเกิดการรวมกิจการเพื่อให้มี Economy of scale และ Economy of scope และโรงพยาบาลที่มีแหล่งทุนเข้มแข็ง มีความสามารถจัดหาเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ต่ำกว่า จะมีศักยภาพการแข่งขันที่ดีกว่า อาจนำไปสู่การเข้าซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เข้มแข็ง ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนของไทยจะต้องปรับตัวให้แข็งแกร่ง เพราะมีกลุ่มทุนต่างชาติที่พร้อมจะเข้ามาซื้อกิจการได้

ส่วนผลกระทบของ AEC จะมีผลต่อบุคลการทางการแทพย์ ซึ่งอาจมีแพทย์ต่างชาติเข้ามาในประเทศได้ ขณะเดียวกัน แพทย์ไทยก็มีทางเลือกในการไปทำงานต่างประเทศได้เช่นกัน ขระที่กลุ่มแพทย์ จะแบ่งเป็นแพทย์เก่ง เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และกลุ่มแพทย์ทั่วไปที่ต้องทำงานหนักขึ้น และแพทย์เฉพาะโรคจะเกิดภาวะขาดแคลน ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมผลิตแพทย์รองรับในอีก 5 ปีข้างหน้า

ด้านนายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหารและการเงินบริษัท บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) กล่าวว่า การเปิด AEC จะทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้ามาในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีคู่แข่งในไทยมากขึ้นเช่นกัน โดยในปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยราว 20.8 ล้านคน สร้างรายได้ ราว 8 แสนล้านบาท แต่ในปี 58 จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 25 ล้านคน สร้างรายได้ถึง 1 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามจะพบว่า มีธุรกิจโรงแรมของ chain ไทย ได้ขยายการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงในอาเซียนแล้ว เช่นกลุ่มเซ็นทรัล เอราวัณ ดุสิตธานี ขณะเดียวกัน chain ในอาเซียนก็เข้ามาลงทุนในไทยและในอาเซียน เช่น Millenium Ascott ขณะที่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี จะต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้ถูกซื้อกิจการ หรืออาจต้องขายกิจการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ