(เพิ่มเติม1) กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% มองศก.โลกเสี่ยงเพิ่มขึ้นอาจกระทบถึงไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 13, 2012 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในการประชุมวันที่ 13 มิ.ย.55 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่มองว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงชะลอตัวมากกว่าที่เคยคาดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ ดังนั้นพร้อมปรับนโยบายการเงินให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า กนง.มีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีความเสี่ยงด้านการขยายตัวมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ โดยปัจจัยเสี่ยงหลักคือ เศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงอันเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป

"กนง.จึงเห็นควรดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงและรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.0% ต่อปี โดยจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง"นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของกรีซในกลุ่มประเทศยูโรและปัญหาภาคสถาบันการเงินในสเปน ทำให้เศรษฐกิจกลุ่มยูโรมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิม 0.5% เป็นหดตัว 0.7% และอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจเอเชีย แต่อุปสงค์ภายในของประเทศเอเชียที่ยังขยายตัวได้ดีและสามารถใช้นโยบายการเงินการคลังเพิ่มเติมหากจำเป็น ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกได้ระดับหนึ่ง

ส่วนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีเกินคาดในไตรมาสแรกของปีนี้ และมีสัญญาณว่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย สินเชื่อภาคเอกชนที่ขยายตัวสูง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกมีโอกาสที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอลงหากปัญหาในกลุ่มประเทศยูโรทวีความรุนแรงขึ้น

แรงกดดันเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตแผ่วลงตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง แต่เศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวได้ดีทำให้การส่งผ่านของต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการมีอยู่ต่อเนื่อง ขณะที่การปรับค่าแรงที่ผ่านมาและการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในอนาคต ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยรวมแล้วแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงมีอยู่แต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินนั้นสำคัญที่สุดคือจะต้องดูว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคืออะไร ขณะนี้เศรษฐกิจยุโรปกำลังแย่ รวมถึงสหรัฐและจีน อาจจะทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ต้องติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในประเทศด้วย แต่ขณะนี้ กนง.มีความสบายใจที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อทุเลาลง ดังนั้นการดำเนินนโยบานการเงินแบบเข้มงวดจึงไม่จำเป็น และสามารถใช้นโยบายการเงินในอนาคตได้ในยามจำเป็น เราจึงสงวนนนโยบายการเงินไว้เป็นกระสุน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยบนโยบายยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงอยู่ที่ -0.3% สามารถรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้และในอนาคตได้ รวมทั้งรองรับความต้องการสินเชื่อ และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ แต่การส่งออกอาจถูกระทบจากวิกฤติยุโรป ส่งผลมาถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการค้าโลกได้ เพราะพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศถึง 70% ของจีดีพี

"หากเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากยุโรป ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีผลต่อระบบสถาบันการเงิน ลูกหนี้ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากการค้าขายทำให้ฐานะทางการเงินแย่ ดังนั้นก็จะนำไปสู่ผลกระทบทางนโยบายการเงินอยู่ดี ผลกระทบต่อไทยมาจากหลายด้าน ทั้งตลาดการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า กระบวนการภายในของธปท.จะต้องมีการประสานงานกันผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และคณะกรรมการเสถียรภาพการเงิน ซึ่งต่อไปจะมีการประชุมร่วมกัน 2 ครั้งต่อปี ครั้งแรกจะประชุมกันวันที่ 18 มิ.ย.มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเครื่องมือของทั้งสองฝ่ายเข้ามาดูแลเศรษฐกิจ ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และพิจารณาว่ามีประเด็นใดต้องติดตาม สามารถเสนอมาตรการดูแลความเสี่ยงได้ ซึ่งเป็นการนำความรู้ความขำนาญและเครื่องมือของทั้งสองคณะกรรมการมาแลกเปลี่ยนกัน

ธปท.ยังคาดว่าจีดีพีของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 6% แต่ก็จะต้องติดตามเศรษฐกิจโลก การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และอุปสงค์ภายในประเทศ เพราะอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่เชื่อว่าโดยรวมแล้วจีดีพีจะขยายตัวใกล้เดิม

ส่วนสภาพคล่องดอลลาร์ที่เหือดแห้งไปในขณะนี้ เป็นประเด็นที่จะต้องดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีสภาพเงินตราต่างประเทศในระดับที่เหมาะสม ไม่กระทบภาคการค้าขาย อย่างไรก็ตาม เครื่องมือปัจจุบันของธปท.ด้านเงินตราต่างประเทศมีหลายอย่างที่จะสามารถนำมาดูแลได้ ขณะที่สภาพคล่องเงินบาทมีล้นเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในประเทศและการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ