พาณิชย์ สัมมนาผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือเตรียมพร้อมรองรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 13, 2012 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการสัมมนา เรื่อง “การใช้ประโยชน์จากถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน และการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง"ว่า เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้สนใจในด้านการส่งออก-นำเข้า ในการใช้ประโยชน์จากถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน และเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) ในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยโอกาสและศักยภาพของสินค้าไทยในตลาดเพื่อนบ้าน และ AEC ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสมดุลเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดใหม่ที่สำคัญ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งนอกจากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ยังมีจำนวนประชากรรวมกว่าครึ่งโลก การพัฒนาด้านระบบคมนาคมขนส่งผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ภายในภูมิภาค ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยจากการเปิดเสรีทางการค้า

การเข้าสู่ AEC ซึ่งทำให้อาเซียนเป็นตลาดขนาดใหญ่มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยต้องศึกษาเพื่อผลิตสินค้าให้สอดคล้องตามเงื่อนไขที่ประเทศไทยได้มีการเจรจากับคู่ค้าในต่างประเทศ อาทิ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences-GSP) ระบบสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (Global System of Trade Preferences-GSTP), ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement-ATIGA) ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย — ประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ทั้งชิลี เปรู ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เป็นต้น และข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศคู่ค้า อาทิ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกสามารถออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) ได้ โดยขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง (Certified Exporter) กับสำนักบริหารการนำเข้า กรมการค้าต่างประเทศ โดยในระยะแรกมีประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศที่ตกลงใช้ระบบนี้ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

นางสาวผ่องพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานหรือสมาคมการค้าที่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศของบริษัทสมาชิก และเรียนรู้ระเบียบวิธีปฎิบัติของงานในความรับผิดชอบของกรมฯ ตลอดจนผู้ส่งออกอาจเข้าร่วมคณะผู้แทนการค้าของกรมฯ ไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเจรจาการค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ