จาการ์ตา โพสต์รายงานโดยอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งของธนาคารโลกที่ว่า แม้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั่วประเทศจะมีอยู่อย่างจำกัด แต่การให้บริการด้านโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากบริษัทเอกชนที่รับจัดการค่าระวางที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ดัชนีชี้วัดทางด้านโลจิสติกส์ของธนาคารโลก (LPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดการปรับตัวของภาคธุรกิจดังกล่าว ที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ระบุว่า อินโดนีเซียครองอันดับ 59 จาก 159 ประเทศ ซึ่งขยับขึ้น 16 อันดับจาก 75 ในปี 2553
หนังสือพิมพ์ดังกล่าวระบุว่า จากการสำรวจบริษัทผู้ประกอบการ 5,000 แห่ง เช่น บริษัทรับจัดการขนส่งสินค้าและบริษัทจัดส่งสินค้าด่วนทั่วโลกนั้น ธุรกิจโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในด้านค่าบริการขนส่งที่สามารถแข่งขันได้ การบริการที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ความสามารถในการติดตามสถานะสินค้าที่จัดส่ง รวมถึงความตรงต่อเวลา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียได้คะแนนรวมที่ 2.94 จากคะแนนเต็ม 5
“เนื่องจากบริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทุนในวงการธุรกิจขนส่งสินค้ามีจำนวนมากขึ้น บริษัทต่างๆจึงสามารถหาเครื่องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้ง่าย" นายแซนดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมบรรยากาศการค้าและการลงทุนในสังกัดธนาคารโลกกล่าววานนี้
มาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียยังคงเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ (อันดับ 1) มาเลเซีย (อันดับ 2) และไทย (อันดับ 38) แต่ยังมีมาตรฐานสูงกว่าอีกหลายๆประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง กัมพูชา (อันดับ 101) ลาว (อันดับ 109) และพม่า (อันดับ 129)
“นี่ถือเป็นความคืบหน้าที่ดี อินโดนีเซีย ซึ่งขยับขึ้นมาถึง 16 อันดับเริ่มเข้าใกล้มาเลเซียซึ่งรั้งอันดับเดิมไว้ได้ 2 ปีซ้อน" นายแซนดีกล่าว