นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุหลังมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตั้งแต่ 1 เม.ย.55 หอการค้าไทยได้สำรวจผู้ประกอบการใน 7 จังหวัดที่ได้นำร่องปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้ว พบว่าส่วนใหญ่ 82.4% ยืนยันว่าได้รับผลกระทบ ซึ่งมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการที่สูงขึ้น, ความสามารถในการแข่งขันลดลง, ยอดจำหน่ายสินค้าลดลงจากความจำเป็นที่ต้องปรับขึ้นราคา และค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นแต่ประสิทธิภาพในการทำงานยังเท่าเดิม โดยมีผู้ประกอบการเพียง 17.6% ที่ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงกรณีที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศในต้นปี 56 นั้น เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจในหลายจังหวัดที่อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตเพื่อการปรับตัว หรือลงทุนประเภทเครื่องจักรจำนวนมากเพื่อลดจำนวนแรงงาน
ดังนั้น หากไม่มีมาตรการรองรับที่ดี รัฐบาลจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม คือ 1.เร่งให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานตามสาขาประเภทธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและตรงตามที่ผู้ประกอบการต้องการ 2.ควรมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการเพิ่มสภาพคล่องให้เข้ากับสถานประกอบการ 3.เอื้ออำนวยความสะดวกหรือลดการนำส่งประกันสังคม และ 4.เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้มากขึ้นและสะดวกมากขึ้นเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากเดิมหอการค้าไทยคาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน และจะกระตุ้นให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปี 55 ปรับเพิ่มขึ้นอีก 1.1-1.4% นั้น แต่จากสถานการณ์หลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำผ่านไป 3 เดือน ประเมินว่า GDP จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีกเพียง 0.5-0.7% เท่านั้น เนื่องจากแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นไม่ได้นำเงินไปใช้จ่ายเท่าที่ควร แต่กลับมีการเก็บออมมากขึ้นจากความกังวลต่อปัญหาความมั่นคงของธุรกิจที่เกรงว่านายจ้างอาจจะปิดกิจการ หรือปรับลดจำนวนคนงานหลังจากมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน
"ตอนนี้แม้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว แต่แรงงานกลับไม่ค่อยใช้เงิน แต่มีการเก็บออม เพราะกลัวความมั่นคงของงาน กลัวธุรกิจจะประสบปัญหา เพราะฉะนั้นจึงออมเงินมากขึ้น จากเดิมที่เราคาดว่าการปรับค่าแรงจะช่วยกระตุ้น GDP ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.1-1.4% ก็คิดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นได้เพียง 0.5-0.7% เท่านั้น" นายภูมินทร์ กล่าว