ผู้ประกอบการระบุค่าแรงขึ้นกระทบต้นทุนหนัก ส่วนปัญหาการเมืองยังมีผลน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 13, 2012 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทยในปัจจุบัน จากผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมือง และสถานการณ์ทั่วไปทางเศรษฐกิจของประเทศจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ 800 ราย พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 47.2% ใช้วิธีการปรับตัวด้วยการปรับเพิ่มราคาสินค้า รองลงมาผู้ประกอบการ 34.2% เลือกจะลดสวัสดิการลง อันดับสาม 32.1% ปรับลดจำนวนแรงงานลง อันดับสี่ 7.6% หันไปจ้างแรงงานต่างด้าว และอันดับห้า 8.5% หาเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมองว่าสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือภาคธุรกิจจากผลของนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คือ การช่วยเหลือด้านภาษีเพื่อให้ครอบคลุมกิจการขนาดย่อม เพื่อชดเชยกับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น, การดูแลหรือลดต้นทุนด้านวัตถุดิบและเชื้อเพลิง, การจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ, ควรมีสวัสดิการของภาครัฐให้กับแรงงานโดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาครัฐควรต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายกลางและรายเล็ก(SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากมาตรการบางด้านผู้ประกอบการอาจได้รับประโยชน์ไม่เท่ากัน เช่น มาตรการทางภาษี ขณะเดียวกันมองว่าตราบใดที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นได้ไม่ดีนัก การที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าออกไปอีก 4 เดือนนั้น อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดความเข้มแข็งทางการเงิน อันเนื่องมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีพร้อมกันทั่วประเทศในปี 56 ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างมาก

ส่วนประเด็นด้านผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีต่อภาคธุรกิจนั้น พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 44.8% มองว่าได้รับผลกระทบน้อย ส่วนอีก 41% ได้รับผลกระทบปานกลาง ขณะที่ 14% ได้รับผลกระทบมาก ในขณะที่ 0.1% ระบุว่าไม่มีผลกระทบเลย ขณะที่ผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินธุรกิจนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขอรอดูสถานการณ์ไปก่อนไม่ว่าจะเป็นการลงทุน, การขยายตลาด หรือการขอสินเชื่อเพื่อขยายการลงทุน

สำหรับโอกาสที่ผู้ประกอบการมองถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความปรองดองขึ้นในประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถึง 53.2% มองว่ามีโอกาสน้อย ส่วนอีก 44.6% มองว่ามีปานกลาง ขณะที่ 1.7% มองว่ามีมาก และอีก 0.5% มองว่าไม่มีโอกาสเลย โดยผู้ประกอบการเห็นว่าหากต้องการปรองดองควรจะต้องลดการยั่วยุโดยทุกฝ่าย, รับฟังความคิดเห็นโดยสร้างสรรค์จากทุกฝ่าย, สร้างความสามัคคีให้มากขึ้น, เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และไม่โกงกิน

ด้านภาวะอัตราแลกเปลี่ยน, อัตราดอกเบี้ย และราคาพลังงานที่จะมีผลกระทบต่อสถานภาพธุรกิจไทยนั้น จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนในระดับปัจจุบันถือว่ามีความเหมาะสมและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เพียงแต่เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เหมาะสมมากที่สุดควรอยู่ที่ 32.20 บาท/ดอลลาร์ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เหมาะสมในปัจจุบันไม่ควรเกิน 7.5%

และผลกระทบของธุรกิจจากราคาน้ำมันดีเซลพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 42.8% ระบุว่าได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง ซึ่งใกล้เคียงกับอีก 42.1% ที่ระบุว่าได้รับผลกระทบมาก โดยมีเพียง 15.1% ระบุว่าได้รับผลกระทบน้อย ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจ คือ ทำให้ต้นทุนการผลิต และต้นทุนการขนส่งปรับเพิ่มขึ้น พร้อมเห็นว่าระดับราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ คือ 28.82 บาท/ลิตร และระดับราคาน้ำมันดีเซลสูงสุดที่ภาคธุรกิจรับได้ต้องไม่เกิน 30.03 บาท/ลิตร

ขณะที่สถานการณ์ทั่วไปทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ พบว่าปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม 5 อันดับแรก คือ 1.ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น 2.ความเชื่อมั่น 3.สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง 4.ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และ 5.ราคาน้ำมัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ