"กิตติรัตน์"แนะธุรกิจประกันวางแผนเชิงรุกรับมือ AEC พร้อมขยายฐานอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 15, 2012 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาเรื่อง "โอกาสหรือวิกฤติประกันชีวิตไทย เปิดมุมมองใหม่สู่ความท้าทายในอาเซียน"ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจและการทำงาน แต่มีความเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นด้วย และจะนำไปสู่การปรับตัวอย่างจริงจังรองรับการแข่งขัน

ทั้งนี้ การเปิดเสรีใน 3 ด้าน คือ ธุรกิจบริการ, การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือนั้น ในบางประเทศอาจใช้วิธีการตั้งรับ แต่บางประเทศอาจใช้วิธีเชิงรุก ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยต้องพร้อมจะขยายงานไปยังระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย

นายกิตติรัตน์ มองว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่น่าสนใจในอาเซียนสำหรับการขยายธุรกิจเข้ามาลงทุน เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ใจกลางภูมิภาค มีความเชื่อมโยงกับทุกด้าน ทั้งการบริการ การคมนาคมผ่านการผลิตและการบริโภค ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะเข้ามาขยายฐานการผลิตและการทุนอย่างแน่นอน

สำหรับธุรกิจบริการ รวมถึงธุรกิจประกันชีวิตไทยจะต้องตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่ามัวคิดเพียงแค่การตั้งรับ แต่ต้องคิดหาวิธีในการขยายธุรกิจต่อไปเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จต่อไป

พร้อมกันนี้ มองว่าภายใต้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และการที่ไทยทำงานร่วมกับ AEC อย่างใกล้ชิด และสามารถรวมเป็นประชาคมเดียวกันได้ ดังนั้นไทยจึงไม่ควรคิดที่จะเป็นประเทศที่เก่งแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรปรับเปลี่ยนแนวคิดที่จะเดินไปด้วยกัน เพราะการทำงานร่วมกันถือเป็นสิ่งสำคัญ และแม้จะเกิดการรวมตัวเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน แต่อาเซียนไม่ได้มีการใช้เงินสกุลเดียวกัน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นปัจจัยเศรษฐกิจที่พิเศษ และมีส่วนช่วยปรับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้

"นอกจากฝากเอกชนให้ต้องปรับตัวแล้ว ฝ่ายกำกับดูแลคงต้องปรับตัวเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้ ทั้งในแง่การตั้งรับ และการขยายตัว" รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวถึงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะร่วมกันดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เกิดความสมดุลต่อการค้าและการลงทุนให้อยู่ได้ด้วยกลไกราคาที่สมดุล ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนในระดับปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะมองว่าการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่า

ส่วนการเตรียมความพร้อมของภาครัฐต่อการเข้า AEC นั้น ที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกันและสอดคล้องกับภูมิภาค แต่ยอมรับว่าในหลายเรื่องจะต้องมีการเร่งปรับปรุง เช่น ระบบการศึกษาของไทย โดยยอมรับว่าในอนาคตภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางของอาเซียน และอาจจะจำเป็นต้องมีภาษาที่สาม ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับตัว

นอกจากนี้ การเตรียมการในระบบคมนาคมขนส่งจะต้องทำให้การขนส่งสินค้ามีความเข้มแข็ง เชื่อมโยง และปรับปรุงให้คล่องตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ