สภาพัฒน์ เผยกำลังรวบรวมผลกระทบวิกฤติยุโรปก่อนคิดปรับคาดการณ์GDPหรือไม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 15, 2012 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยถึง ผลกระทบจากปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรปว่า สศช.ต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม แม้ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกไปยุโรปเพียง 9% ซึ่งผลกระทบในขณะนี้แม้จะยังไม่มาก แต่หากวิกฤติหนี้ยุโรปรุนแรงจนกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็เชื่อว่าจะมีผลต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในตลาดจีนที่มีสัดส่วนสูงถึง 19% และอาเซียน 22% เพราะเอเซียแปซิฟิกเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของยุโรป

อย่างไรก็ดี สศช.ยืนยันว่ายังไม่ปรับเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 5.5-6.5% เพราะยังมีแรงส่งจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัย

นายอาคม กล่าวด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและสอบถามถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือแผนธุรกิจในระยะ 5 ปี, 10 ปี และ 20 ปี เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาโดยเบื้องต้นต้องมีการทำ WORK SHOP เพื่อเตรียมความพร้อมในการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 ในด้านต่างๆ เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมก่อนจะเจาะลึกลงไปในรายอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ต้องมีการจัดทำข้อมูลของประเทศให้ทันสมัย ทั้งด้านเศรษฐกิจ, การค้า และการลงทุน โดยต้องตรวจสอบข้อมูลของทุกหน่วยงานให้ตรงกัน พยายามติดตามเศรษฐกิจในกลุ่มยุโรป เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ขณะเดียวกันต้องจัดทำข้อมูลเป็นรายจังหวัด ศึกษาความสามารถในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เป็นภูมิคุ้มกันในภาวะที่ส่งออกชะลอตัว รวมทั้ง สศช.จะติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ ของภาครัฐว่าดำเนินการตามเป้าหมายหรือไม่

เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่า ได้รายงานการดำเนินโครงการต่างๆ 13 เรื่องตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย รวมทั้งการส่งสริมกำลังซื้อภายในประเทศ โดยจะพัฒนาสินค้า OTOP โดยใช้สถานีรถไฟและสนามบิน 36 แห่ง เป็นแหล่งจำหน่ายหารายได้ในเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันมีการทำโซนนิ่งภาคเกษตร เพราะที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำ ภัยพิบัติ และสินค้ามีราคาแพง ดังนั้นจึงมีแนวคิดแบ่งพื้นที่เกษตรเพื่อควบคุมผลผลิตพืชในแต่ละพื้นที่ และดูแลราคาสินค้าเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ