นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมตรี และ รมว.คลัง ระบุคงเป้าหมายส่งออกในปี 55 เติบโต 15% และมั่นใจเศรษฐกิจไทยหรือGDP ในปีนี้จะเติบโตได้เกินกว่า 5.5 % ตามคาดการณ์ แม้จะเผชิญปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปก็ตาม แต่มีการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาครัฐ
"ผมยังยืนเป้าหมายที่ 15% ...ผมยังอยู่กับตัวเลขนั้น ดูจากปีที่แล้วเราก็ตั้งเป้าหมายส่งออก 15% ก่อนเกิดน้ำท่วม เรามีความหวังส่งออกได้ 26% บนเป้า 15% แต่ในไตรมาส 4 เกิดอุทกภัย ก็ยังโต 17%"นายกิตติรัตน์กล่าวในรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน"
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งทีมเฉพาะกิจดูแลติดตามปัญหาหนี้ยุโรปอย่างใกล้ชิด พร้อมเข้าช่วยเหลือกลุ่มผู้ส่งออก โดยเฉพาะ เอสเอ็มอีที่เป็นห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มส่งออก รวมถีงธุรกิจท่องเที่ยว
นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงความพร้อมในการรับมือปัญหาวิกฤตยุโรปว่า ในส่วนของเศรษฐกิจไทยปี 55 คาดการณ์ว่าถ้าทุกอย่างคงตัวเหมือนในขณะนี้ และได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่หารือกันอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ก.คลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒน์ เพื่อตรวจสอบความพร้อมความเข้มแข็งของการเงินการคลังของประเทศ อีกทั้งยังร่วมทำงานกับกระทรวงเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน รวมทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อดูแลประสานงานต่างๆเมื่อมีการสั่งการ
ขณะเดียวกันก็มีการประมาณการว่าถ้ามีการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปลงจะกระทบอย่างไร วิเคราะห์ว่ากรอบคราวก่อนสหรัฐเกิดปัญหา โลกทั้งโลกตกใจ เศรษฐกิจสหรัฐลดลงรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดในยุโรป ค่อยๆเกิดและเรื้อรังอยู่ทำให้เศรษฐกิจยุโรปไม่เติบโตหรือโตร้อยละ 0 ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รุนแรงเหมือนสหรัฐเป็น อย่างมากอาจจะครึ่งหนึ่งหรือค่อนหนึ่ง เชื่อว่าโลกทั้งโลกก็มีการเตรียมตัว ต่างคนต่างเตรียมตัวการที่จะประคับประคองสถานการณ์ให้ดีขึ้น ก็อยู่ในภาวะที่คาดหวังได้
"ของเราก็มั่นใจว่าจะดูแลสถานการณ์ได้ แม้จะมีผลกระทบ แต่ถ้าเรามีการเตรียมตัว จากหนักก็จะเป็นเบา จากเบาก็จะเป็นไม่ได้รับผลกระทบ"รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนั้น ก็อาจจะมีคนกังวลว่าในเวลาที่รัฐเข้าไปทำอะไรแล้วจะใช้เงินมากขึ้น ความแข็งแกร่งของภาครัฐจะเป็นอย่างไร ก็ขอเรียนว่าเรามีหนี้สาธารณะ 4.2-4.3 ล้านล้านบาท ประมาณ 40% ของจีดีพี เราเคยตั้งวินัยการคลังว่าไม่ให้หนี้สาธารณะไปใกล้ 60% ขณะนี้ยังห่างอยู่ 20 ขณะที่ประเทศที่มีปัญหาหนี้ เราพูดถึงหนี้ 100% ซึ่งเราไกลจากตรงนั้นมาก และกรณีหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.4 ล้านล้านบาท ก็ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน เพราะฉะนั้นถ้าเราจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ก็ขอให้มั่นใจว่าเรามีความพร้อม ไม่นำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะ
นายกิตติรัตน์ ยังได้กล่าวด้วยว่า ยังเป็นความมั่นใจของประชากรในระบบเศรษฐกิจทั้งโลกว่า ยุโรปจะดูแลประเทศที่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจของเขาได้ ซึ่งประเทศที่เกิดปัญหา เช่น กรีซ ถ้ากรีซอยู่ต่อก็มีข้อดีข้อเสีย ถ้าจะออกจากยูโรโซนก็มีข้อดีข้อเสีย ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดกับไทยในปี 2540 เวลาที่เรามีเงินสกุลของเราเอง พอเกิดวิกฤติ เราลอยตัวค่าเงินบาท เราเปลี่ยนจากประเทศที่เคยขาดดุลกลายเป็นเกินดุล การจ้างงานกลับมา ในแนวทางเดียวกันถ้ากรีซอยู่ต่อก็หมายถึงกรีซและประเทศในยุโรโซนก็พร้อมทำงานร่วมกัน คนที่อยู่ในประชาคมเศรษฐกิจก็มีความเข้าใจในการทำอะไรก็มีข้อดีข้อเสีย และคนที่จะรู้ดีที่สุดก็คือคนที่อยู่ในปัญหานั้นเอง
นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ กล่าวถึง ผลจากนโยบายที่รัฐบาลดำเนินไปก่อนหน้านี้ว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ก็มีการนำรายได้เหล่านี้ไปอุปโภคบริโภค ซื้อสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิต รัฐบาลยังเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นแม้อัตรายืนเท่าเดิม การค้าขายก็สามารถขายได้สูงขึ้น แม้ค่าแรงเพิ่มขึ้นแต่อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด เงินกู้ลดลงไป ภาษีที่จะคิดกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจจะลดลงจาก 30% เหลือ 23% ขณะที่ราคาพลังงานค่อยๆอ่อนตัวลง ดังนั้นเห็นว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มที่ดี เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในภาวะที่ทำให้เราอยู่ในภาวะสมดุลทางการค้า เราได้เปรียบดุลการค้าด้วยซ้ำไป อัตราดอกเบี้ยที่ธปท.ดูแลอยู่ที่ประกาศก็เป็นอัตราคงที่ที่ 3% ต่อปี สภาพคล่องก็ยังมีอยู่ ดังนั้นทุกอย่างก็พร้อมที่จะรองรับความผันผวนที่จะเกิดได้
"รัฐบาลของเราประกาศนโยบายของรัฐสภาชัดเจนในการสร้างความกินดีอยู่ดีให้พี่น้องประชาชน การเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยทั้งสังคมเมืองและภาคเกษตร เราได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มเข้ามาเป็นรัฐบาล ผู้มีรายได้น้อยมีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น นอกจากนี้เราเองก็ไม่อยากเจอปัญหาอุทกภัย แต่เมื่อมีปัญหาเราก็จำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างต่างๆซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำและติดตามหน่วยงานต่างๆอย่างใกล้ชิดทำให้การใช้จ่ายต่างๆมีการคืบหน้าที่ดี การอุปโภคบริโภคที่ ดังนั้นถ้ามีผลกระทบ การอุปโภคบริโภค และการลงทุนของภาครัฐก็จะช่วยประคับประคองได้ "นายกิตติรัตน์กล่าว