ส.อ.ท.เตรียมเสนอแผนงานพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเข้าที่ประชุม กรอ.ภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 18, 2012 10:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ส่วนภูมิภาคในช่วงบ่ายวันนี้พิจารณาแผนเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่ภาคตะวันออก 7 จังหวัด

โดยโครงการที่จะเสนอให้พิจารณา ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาโครงการการเสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ประกอบด้วย การเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 กระบวนการเสริมสร้างศักยภาพและความคิดเห็นตรวจสอบการทำรายงานการวิเคราะห์ด้านสุขภาพ(HIA) ที่ให้หน่วยงานของภาครัฐพิจารณาและอนุมัติการลงทุนพื้นที่มาบตาพุดภายใน 6 เดือน ถือว่านานเกินไป เพราะกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชนที่มีโครงการค้างอยู่ 4-5 โครงการตั้งแต่กลางปี 2554 ที่ผ่านมา มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท จะเสนอให้ลดระยะเวลาการพิจารณาและอนุมัติให้เร็วขึ้น, การแก้ปัญหาความแออัดของการใช้ท่าเรือระยอง เกี่ยวกับการเช่าสัญญากับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่มีการปิดซ่อมแซมท่าเรือมาประมาณ 9-10 เดือน เป็นการปิดซ่อมแซมท่าเรือที่นานเกินไปจนส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เกิดความเสียหายและต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจำเป็นต้องไปใช้บริการท่าเรืออื่นแทน เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งการใช้รถยนต์ขนส่งสินค้าประมาณ 4,000 เที่ยว คิดเป็นมูลค่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 1 เดือน ประมาณ 14-15 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากมีการเปิดให้บริการขนส่งอีกครั้งจะช่วยเร่งรัดการส่งออกสินค้าให้กับประเทศ, การฟื้นฟูระบบการขนส่งทางราง เส้นทางมาบตาพุด-ระยอง ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินโครงการโดยเร็ว เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เพราะเรือขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ไม่ได้จอดที่ท่าเรือมาบตาพุด แต่จอดที่ท่าเรือแหลมฉบัง

2.การเสนอให้มีจัดทำกลไกการบริหารจัดการความปลอดภัยและแผนภาวะฉุกเฉินในพื้นที่มาบตาพุดและภาคตะวันออก พร้อมทั้ง ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจปฏิบัติการเชิงรุก โดยขอให้รัฐบาลจัดส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมศึกษาการทำกลไกดังกล่าว เช่น สถาบันปิโตรเลียม เอกชน ภาครัฐ ประชาชน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท ในระยะเวลา 3-4 เดือน หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

3.การเสนอให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและกระทบกับการประกอบธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยขอให้รัฐบาลเร่งรัดโครงการต่างๆเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่ดำเนินการอยู่ให้เร็วขึ้น และจัดตั้งอาคารศูนย์ปฏิบัติการจัดการน้ำภาคตะวันออก คาดใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอกับการอุปโภค-บริโภค

4.เสนอให้มีการจัดทำผังเมืองมาบตาและภาคตะวันออกพุดใหม่ให้มีความสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันกับภาคเอกชน ภาครัฐ และชุมชนในพื้นที่ โดยให้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเป็นผู้เสนอแผนการจัดทำผังเมืองใหม่ แบ่งออกเป็นโซนๆให้ชัดเจน เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่พาณิชย์ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ซึ่งต้องมีการศึกษาและวางโครงข่ายคมนาคมให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับการพัฒนา

และ 5.การเสนอให้พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ไม่คุ้มค่า รวมทั้งเสนอให้มีการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมระบบรางภาคตะวันออก และรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-ระยอง ให้แล้วเสร็จในปี 2560 เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก

นอกจากนี้จะมีการหารือเรื่องการขอผ่อนผันระยะเวลาการเปิด-ปิดด่านและจุดผ่อนปรนการค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา คือ บ้านผักกาด และบ้านแหลม จ.จันทบุรี, บ้านหาดเล็ก จ.ตราด, ตาพระยา หนองปรือ และบ้านเขาดิน จ.สระแก้ว จากเดิมเวลา 08.00-18.00 น. เป็นเวลา 08.00-22.00 น. เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าขายตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และขยายการค้าการขนส่งไปยังประเทศเวียดนามผ่านเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากในปี 2554 การค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาในพื้นที่ภาคตะวันออกมีมูลค่าสูงประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งไทยมีการส่งออกสินค้าประมาณ 65,000 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าเพียง 5,000 ล้านบาท นับว่าไทยมีการค้าขายที่เกินดุลย์ประมาณ 60,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ