HSBC คาด CPI จีนชะลอลงแตะ 2.9% ในปี 2555

ข่าวต่างประเทศ Monday June 18, 2012 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉู่ ฮองปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี ไชน่า และผู้อำนวยการร่วมด้านการวิจัยเศรษฐกิจเอเชียของเอชเอสบีซี คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนอาจชะลอลงแตะ 2.9% ในปี 2555 ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายจะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นายฉู่กล่าวว่า CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ อาจลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3% ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากทั้งราคาอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเนื้อหมู และราคาสินค้านอกหมวดอาหาร ต่างก็ปรับตัวลดลง

CPI เดือนพฤษภาคมได้ปรับตัวลงต่อเนื่องแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนที่ 3% อันเนื่องมาจากการปรับตัวลงของราคาอาหาร เมื่อเทียบกับดือนเมษายนที่ระดับ 3.4% และในเดือนมีนาคมที่ 3.6%

ทั้งนี้ ราคาอาหารที่พุ่งขึ้นได้ผลักดันให้ดัชนี CPI ของจีนพุ่งขึ้น 5.4% ต่อปีในปี 2554 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ระดับ 4% เป็นอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงทำให้รัฐบาลจีนมีทางเลือกน้อยลงในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งกำลังชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา

จีนได้เปิดเผยมาตรการผ่อนคลายต่างๆจำนวนมากนับตั้งแต่ปี 2554 โดยมีจุดประสงค์ในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราการขยายตัวรายปีของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ชะลอลงสู่ระดับ 8.1% ในไตรมาสแรกปี 2555 จาก 9.2% ในปี 2554

ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดสัดส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) 3 ครั้งนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

ผลการวิจัยล่าสุดพบว่า เศรษฐกิจจีนอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ แต่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอในขณะที่ข้อมูลสถิติเดือนพฤษภาคมบ่งชี้ว่า GDP ได้ขยายตัวต่ำกว่าระดับเป้าหมายของรัฐบาลที่ 7.5% ในปี 2555

เอชเอสบีซีคาดว่า ธนาคารกลางจีนอาจจะปรัลลดสัดส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลง 4 ครั้งพร้อมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้

นอกจากนี้ นายฉู่ยังกล่าวเสริมว่า ขณะที่มีการปรับลดภาษี รวมทั้งเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ตลอดทั้งให้มาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนนั้น มีแนวโน้มว่า GDP ของจีนจะดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 8.5% ในช่วงครึ่งปีหลัง สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ