รมว.พลังงาน เล็งทบทวนปรับลด Adder โซลาร์เซลล์หลังพบต้นทุนถูกลงกว่าเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 18, 2012 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า อยู่ระหว่างทบทวนเรื่องการให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จากเดิมในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) ที่ให้ค่าส่วนต่างชดเชยค่าไฟฟ้า(Adder) จำนวน 8 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี แต่หลังจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลดลง กระทรวงพลังงานก็มีนโยบายเปลี่ยนการชดเชยส่วนต่างค่าไฟฟ้าเป็น Feed in tariff ซึ่งจะลดการชดเชยส่วนต่างค่าไฟฟ้าลงเหลือ 6.50 บาทต่อหน่วย แต่ภาคเอกชนต้องการให้กลับไปใช้เป็น Adder เหมือนเดิม ทำให้กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาการให้ Adder ใหม่ แต่จะปรับลดเงินชดเชยสนับสนุนลงจาก 8 บาทต่อหน่วย แต่อาจเพิ่มระยะเวลาในการส่วนต่างค่าไฟฟ้าให้นานขึ้น หรืออาจใช้สูตรวิธีการคำนวณแทน

"จะต้องเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตไฟฟ้า ประชาชน และรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าต้นทุนโซลาร์เซลล์ในขณะนี้ปรับลดลงมามาก จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเมกะวัตต์ ลงมาเหลือ 2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องมีการศึกษารายละเอียดก่อน" นายอารักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ก็จะมีการทบทวนในส่วนของใบอนุญาตที่ได้ให้ไปแล้วกับผู้ประกอบการแต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากขณะนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตแต่กลับนำไปขายต่อ ทำให้มีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่เป็นไปตามแผน โดยในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกำหนดว่าในปี 2563 จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีการผลิตจริงและเข้าระบบเพียง 200 กว่าเมกะวัตต์เท่านั้น

รมว.พลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งเป็นถือเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เพิ่มการลงทุนในโครงการพื้นฐานด้านพลังงาน และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาค รวมทั้งการสร้างเสริมความมั่นคงทางพลังงาน แสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานและระบบไฟฟ้าจากทั้งในและต่างประเทศให้มีการกระจายแหล่งและประเภทพลังงานให้มีความหลากหลายเหมาะสมและยั่งยืน

ขณะที่นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) กล่าวว่า บริษัทสนใจที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยได้ขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์ เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงพลังงานที่ต้องการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ และเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วยการใช้เชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล บริษัทฯ มีแผนจะผลิตไฟฟ้ากับชุมชน โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าโดยถือหุ้นผ่านสหกรณ์ในพื้นที่ ล่าสุด คือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากรากไม้ยางพารากำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ จะสามารถก่อสร้างได้ปลายปีนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2557 ใช้เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท

นายนพพล กล่าวว่า บริษัทยังสนใจที่จะเข้าไปลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้าที่ประเทศบาห์เรน เนื่องจากบาห์เรนเป็นศูนย์กลางการค้าของตะวันออกกลาง และมีความต้องการใช้ฟ้าเป็นจำนวนมาก ประกอบกับรัฐบาลไทยและรัฐบาลบาห์เรนก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้การเจรจาติดต่อง่ายขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกัน

ส่วนการลงทุนที่ประเทศกัมพูชา ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและสำรวจพื้นที่ ที่มีความเหมาะสม เบื้องต้นจะอยู่ที่บริเวณริมชายฝั่ง ของเกาะกง โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาและลงพื้นที่ประมาณ 7 ปี โดยจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรในท้องถิ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ