กทม.ยันสัมปทาน BTS เป็นการจ้างเดินรถอย่างถูกต้อง ทำเพื่อประโยชน์คนกรุง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 19, 2012 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยกรณีการจ้าง บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) เดินรถ 30 ปีว่า ไม่ใช่การต่อสัญญาสัมปทาน แต่เป็นการจ้างเดินรถอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยกรุงเทพมหานครจ้างบริหารทรัพย์สินของตน ซึ่งเป็นอำนาจในการบริหารโดยตรงของผู้ว่าฯ กทม. โดยเอกชนไม่สามารถมีส่วนในผลกำไรจำนวน 110,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันทำให้กทม.มีรายได้เพื่อที่จะนำมาพัฒนาโครงการต่างๆ ของกทม. เช่น สร้างอุโมงค์ระบายน้ำ สวนสาธารณะขนาดใหญ่ โรงบำบัดน้ำเสีย โรงกำจัดขยะปลอดมลพิษ โรงพยาบาล ฯลฯ

ส่วนผลประโยชน์ที่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ จะได้รับในอนาคต คือ อัตราค่าโดยสารที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ตามข้อบัญญัติที่มีผลบังคับใช้ในปี 2552 ทั้งนี้จากประเมินค่าใช้จ่ายเดินรถ โดยที่ปรึกษาบริษัท พีบีเอเชีย จำกัด และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประเมินค่าใช้จ่ายเดินรถตลอด 30 ปี เป็นเงินจำนวน 196,608 ล้านบาท โดยใช้แบบจำลองของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่กำหนดแบบจำลองค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ให้หน่วยงานของรัฐใช้จัดจ้างเอกชนในการเดินรถ ซึ่งพบว่าสัญญาจ้าง BTSC เดินรถเป็นเงินจำนวน 187,142 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาอ้างอิง ที่ปรึกษาอยู่ 9,466 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดการเดินรถระยะเวลา 30 ปี ต่ำกว่า 17 ปี มากกว่า 6,200 ล้านบาท ทำให้สามารถจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร ขณะนี้ในอัตรา 15 บาท แทนที่จะเป็น 25 บาท

ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จะนำเรื่องการจ้าง BTSC เดินรถเป็นเวลา 30 ปี เข้าที่ประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ กทม.จะส่งข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีดีเอสไอ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งไปรษณีย์ตอบรับให้กับคณะกรรมการคดีพิเศษทั้ง 21 คน เพื่อให้รับทราบถึงอำนาจหน้าที่ของตนก่อนที่จะลงมติรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการตรวจสอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ