นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากประเทศต่างๆ ในช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค.)ของปี 55 ว่า ไทยส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ทุกระบบมีมูลค่า 3,675.37 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการใช้สิทธิ 3,701.07 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการใช้สิทธิดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 62.32% จากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิรวม 5,897.68 ล้านดอลลาร์
สำหรับสัดส่วนการใช้สิทธิแยกเป็นรายประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป มีการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ 3,305.89 ล้านดอลลาร์ แต่มีการใช้สิทธิเพียง 2,299.54 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 69.56% สหรัฐอเมริกา มีการส่งออก 1,779.11 ล้านดอลลาร์ ใช้สิทธิ 1,023.52 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 57.53% ตุรกี ส่งออก 224.56 ล้านดอลลาร์ ใช้สิทธิ 142.79 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 63.59% สวิตเซอร์แลนด์ ส่งออก 195.63 ล้านดอลลาร์ ใช้สิทธิ 80.36 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 41.08%
ส่วนแคนาดา ส่งออก 164.02 ล้านดอลลาร์ ใช้สิทธิ 60.70 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 37.01% รัสเซียและรัฐอิสระต่างๆ ส่งออก 61.10 ล้านดอลลาร์ ใช้สิทธิ 40.80 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 66.78% ญี่ปุ่น ส่งออก 128.95 ล้านดอลลาร์ ใช้สิทธิ 10.61 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 8.23% และนอร์เวย์ ส่งออก 38.42 ล้านดอลลาร์ ใช้สิทธิ 17.05 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 44.38%
"ปัจจุบันมี 8 ประเทศที่ให้สิทธิ GSP แก่สินค้าไทย และไทยยังสามารถเพิ่มมูลค่าการใช้สิทธิได้อีกมาก เพราะสัดส่วนการใช้สิทธิรวมอยู่ที่ 62.32% เท่านั้น จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ส่งออกสินค้าไปยังทั้ง 8 ประเทศนี้ ขอให้ตรวจสอบว่าสินค้านั้นๆ ได้รับสิทธิ GSP หรือไม่ ถ้าได้ก็ควรจะขอใช้สิทธิ เพื่อลดต้นทุนสินค้า เพราะสินค้าไทยจะได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งจะทำให้มีศักยภาพการแข่งขันได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งประเทศอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิ" นายสุรศักดิ์กล่าว