หนังสือพิมพ์เดอะ จากาตาร์ โพสท์ รายงานว่า มีการคาดการณ์ว่าประเทศอินโดนีเซียจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกภายในทศวรรษหน้า เนื่องจากคู่แข่งที่สำคัญอย่างมาเลเซียมีปัญกาการขาดแคลนที่ดินเพาะปลูกและต้นปาล์มน้ำมันมีอายุมาก
สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างข้อมูลของธนาคารราโบ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ค่าเฉลี่ยการใช้น้ำมันปาล์มของโลกพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าผลผลิตของโลกตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีความต้องการ 2.5 ล้านตันต่ปี ในขณะที่ผลผลิตมีเพียง 2.4 ล้านตันต่อปี ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มต้องเร่งผลิตให้มากขึ้น
รายงาน "แนวโน้มตลาดน้ำมันปาล์ม" ระบุว่า "เนื่องจากอุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน ข้อจำกัดต่างๆจึงเห็นได้อย่างชัดเจน" พร้อมกับระบุว่า ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อย 640,000 เฮกเตอร์ต่อปีเพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของโลก และเมื่อพิจารณาจากตัวเลขที่คำนวนดูแล้ว พื้นที่เพาะปลูกของอินโดนีเซียน่าจะคงอยู่ไปอีก 12 ปี เนื่องจากยังมีพื้นที่อีกประมาณ 16-17 ล้านเฮกเตอร์ที่สามารถใช้เพาะปลูกต้นปาล์มได้
นายพาวัน กูมาร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและให้คำปรึกา ด้านธุรกิจอาหารและเกษตรกรรมของธนาคารราโบ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า มาเลเซียกำลังประสบปัญหาที่ดินไม่เพียงพอ โดยขณะนี้มีพื้นที่เหมาะสมเพียง 600,000 เฮกเตอร์เท่านั้น
"ด้วยสถานการณ์เรื่องพื้นที่ในปัจจุบัน ประกอบกับระเบียบข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกปาล์มของมาเลเซียจะหมดไปภายในสามถึงสี่ปี" นายพาวันกล่าวต่อสื่อมวลชนในจากาตาร์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
นอกจากปัญหาขาดแคลนที่ดินแล้ว มาเลเซียยังประสบกับปัญหาต้นปาล์มมีอายุมากด้วย โดย 87% ของปาล์มทั้งหมดเติบโตเต็มที่แล้ว ในขณะที่อินโดนีเซียมีปาล์มที่โตเต็มที่เพียง 17% เท่านั้นบ่งบอกได้ถึงศักยภาพการผลิตของประเทศในอนาคต
รายงานเผยว่า "การเพาะปลูกของมาเลเซียเติบโตเต็มที่แล้ว และมีโอกาสอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นสำหรับการขยายตัว"