"ณัฐวุฒิ"เดินหน้าดันพ.ร.บ.การยางฯรับ AEC-ตั้งเป้าส่งออก 1 ล้านลบ.ปี 56

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 22, 2012 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 มิ.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งระบบ อาทิ กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง สถาบันวิจัยการยาง สมาคมยางพาราไทย ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยาง สมาคมน้ำยางข้น สมาคมถุงมือยาง สมาคมไม้ยาง รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม มาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.การยางฯ ฉบับนี้

ทั้งนี้ จะมีการนัดหมายประชุมพิจารณาเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.การยางฯ ทุกวันพุธ เวลา 13.00 น.เพื่อผลักดันกฎหมายไปสู่การบังคับใช้ก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)

"จะอารักขากฎหมายฉบับนี้จนถึงเส้นชัย ซึ่งในปี 2558 ที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มั่นใจว่าร่างพ.ร.บ.การยางฉบับนี้ จะต้องมีผลบังคับใช้ไปแล้ว" นายณัฐวุฒิ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ราคายางที่ตกต่ำในขณะนี้ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ปัจจัยหลักมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมทำให้ต้องหันมามองปัจจัยในประเทศ ซึ่งหมายถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่จะไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่สร้างความลำบากใจให้แก่เกษตกรและผุ้ที่เกี่ยวข้องกับวงการยาง

มาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้ในขณะนี้ คือ โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร (โครงการ 15,000 ล้านบาท) แบ่งเป็น เงินงบประมาณสำหรับให้องค์การสวนยางรับซื้อยางจากเกษตรกร 10,000 ล้านบาท และเงินสินเชื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกยางอีก 5 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนของเงินสินเชื่อนั้นขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส)ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท แต่เม็ดเงินยังไปถึงมือเกษตรกรเพียง 500 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะต้องเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายโดยเร็วที่สุด

ส่วนโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร สามารถซื้อยางได้แล้ว 1 หมื่นตัน ซึ่งสัปดาห์หน้าตนจะเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อใช้โอกาสนี้เจรจากับผู้ประกอบการจีน เอายางในโครงการไปจำหน่ายหรือหาช่องทางการตลาด คาดว่า น่าจะประสบความสำเร็จบ้างไม่มากก็น้อย

ด้านกลไกระหว่างประเทศ ซึ่งไทยได้ร่วมกับประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่จัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศนั้น นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา บทบาทขององค์กรนี้ยังค่อนข้างน้อย จึงได้มอบหมายตัวแทนของฝ่ายไทย ไปตั้งเวทีประชุมร่วมกับอีก 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่า เมื่อถึงเวลาจำเป็นทั้ง 3 ประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อหามาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง

"ผมจะใช้ทุกกลไก ทุกเครื่องมือ ทุกสรรพกำลัง ทำอย่างดีที่สุด เพื่อให้สถานการณ์ราคายางดีขึ้น โดยมีแผนจะผลักดันการส่งออกยางในปี 56 ให้ได้ 1 ล้าน ล้านบาท จาก 6.8 แสนล้านบาทในปี 54...ถ้าไม่ปักธงไปข้างหน้า ถ้าไม่กล้าประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน คนที่เดินมาด้วยจะมีพลังได้อย่างไร ผมกล้าขอความร่วมมือ กล้าขอความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงแก่วงการยางทั้งระบบ"นายณัฐวุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ