สป.ระดมสมองหาแนวทางหนุนอุตฯยาง แนะทบทวนอัตรา CESS-สร้างมูลค่าเพิ่ม-งานวิจัย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 22, 2012 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนา "มาตรการเชิงรุก-เชิงรับ สำหรับสินค้าเกษตร(ยางพารา)เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558" เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้องกับอุตสหากรรมยาง กำหนดมาตรฐานและเสนอแนะแนวทางในการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมยาง โดยมีตัวแทนจากสมาคมยาง เช่น สมาคมน้ำยางข้น สมาคมไม้ยาง สมาคมถุงมือยาง รวมทั้งผู้ทรวงคุณวุฒิจากภาครัฐ นักวิชาการ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อแนะนำ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมครม.ได้ราวปลายเดือนก.ค.55

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นควรให้มีการทบทวนการจัดเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (CESS) ที่เก็บเพิ่มขึ้นเป็น 5 บาท/กก. จากเดิมที่เก็บที่ 1.40 บาท/กก. เนื่องจากการปรับเพิ่มค่า CESS ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้เสียเปรียบการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบส่งออกยาง โดยหลีกเลี่ยงไม่จ่ายเงิน CESS ส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมยาง

ทั้งนี้ ประเทศที่มีการปลูกยางธรรมชาติในโลกมีมากกว่า 20 ประเทศและประเทศเหล่านี้ไม่มีการเรียกเก็บเงิน CESS ยกเว้น 2 ประเทศ คือ ไทย และมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียมีการจัดเก็บเงิน CESS คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 1.40 บาท/กก. เท่ากับอัตราจัดเก็บเดิมของไทย แต่การที่มาเลเซียจัดเก็บในอัตราดังกล่าว ไทยยังสามารถแข่งขันได้ เพราะสินค้ามีคุณภาพกว่า

"อยากให้ทบทวนอัตราการจัดเก็บเงิน CESS จะเท่าไหร่ก็ได้ที่ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ จะปรับลดเหลือ 1.40 บาท/กก.เท่าเดิม ผู้ประกอบการก็ยังรับได้ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยคงต้องหลุดจากการเป็นเบอร์ 1 ในการส่งออกยาง หาก AEC มีผลบังคับใช้" นายอุทัย กล่าว

นายนายวรเทพ วงศาสุทธิกุล อุปนายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการทบทวนการจัดเก็บเงิน CESS เพราะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาธุรกิจน้ำยางข้นของไทยไม่สามารถขายของได้ เพราะจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อเบอร์ 1 ของโลกหันไปซื้อจากอินโดนีเซียที่ราคาถุกกว่า 5-8 บาท/กก. เพราะไม่มีการจัดเก็บเงิน CESS ดังนั้นการทบทวนอัตราการจัดเก็บเงิน CESS น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่มีส่วนช่วยอุตสาหกรรมยางให้แข่งขันได้ โดยเฉพาะหลัง AEC มีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ วิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้อุตสาหกรรมยางแข่งขันกับต่างประเทศได้ คือ ต้องพัฒนาสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเห็นว่าเกษตรกรควรเปลี่ยนแนวคิดจากการผลิตสินค้าต้นน้ำในรุปแบบของวัตถุดิบ น้ำยางสด น้ำยางข้นมาแปรรูป หรือทำให้สินค้ายางสะอาด มีคุณภาพ ไม่มีสิ่งเจือปน ให้เป็นวัตถุดิบที่สามารถส่งออกได้ทั่วโลก จะได้เป็นการสร้างมูลค่าและทำให้หาตลาดได้ง่ายขึ้น

นายปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ ผู้แทนโรงงานอุตสาหกรรมยางภาคตะวันออก กล่าวว่า หากเปิดเสรีอาเซียนแล้ว นอกจากจะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศด้วยกันเองยังจะต้องแข่งขันกับต่างประเทศด้วย ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาตัวเอง ศึกษาตลาดเป็นตัวนำว่าความต้องการของตลาดที่แท้จริงคืออะไร แล้วผลิตตามที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้ ต้องพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิต มีคุณภาพ โดยให้มองจากประเทศคู่แข่ง คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีแรงงานน้อยมาก แต่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เครื่องจักรมีคุณภาพ มีการวิจัยที่ดี

นายวิทย์ ประทับใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า ไม่ควรให้ความสำคัญกับ AEC เพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะเรื่องยางพารา แต่ควรมองเลยไปถึงเวทีโลกที่ปี 2020 โดยอยากเห็นการบริหารจัดการของภาครัฐ และการดำเนินธุรกิจที่มีการพัฒนาต่อยอดของภาคเอกชน โดยมองว่าในปี 2020 ควรจะมีการพัฒนาใน 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับเกษตรกร ควรจะสอนให้เกษตรกร รู้จักการเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิตก็จะลดลง อยากให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีคิด สินค้าที่ผลิตได้ก็นำไปแปรรูปเอง เป็นยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน จากปัจจุบันที่รู้จักแต่การผลิตแต่น้ำยาง แต่ในส่วนนี้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพร้อมที่จะสนับสนุนและเสนอแนะแนวทาง ผลักดันให้เกษตรกรมีศักยภาพ

2. ผู้ประกอบการ อยากให้พัฒนาและมีการลงทุนเครื่องจักร เทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้ามากกว่านี้ มีการหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าถ้าอีก 8 ปี ทุกอย่างมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประเทศไทยจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ยางได้อีกหลายเท่าตัว และ 3. ภาครัฐ ต้องสนับสนุนเรื่องงานวิจัยและพัมนา(R&D) ต้องมีองค์กรที่พร้อมจะทำงานทางด้านนี้เพื่อทำการวิจัยอุตสาหกรรมยางอย่างครบวงจร มุ่งสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในอีก 8 ปีข้างหน้า นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐส่งเสริมภาคเอกชนและเกษตรกร ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วย

"ประเทศไทยผลิตยางมากที่สุด มียางคุณภาพดี แต่การคอนโทรลตลาด ยังสู้มาเลเซียไม่ได้ จึงอยากเห็นศูนย์กลายอุตสาหกรรมยางทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศไทย อยากเห็นศูนย์กลางการตลาด ศูนย์กลางการแปรรูปยาง รวมถึงใช้กลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้น้อยมาก" นายวิทย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ