นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 65 แห่ง จาก 43 ประเทศได้ทยอยรายงานแผนการรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวนจากสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนแล้ว ตามนโยบายเร่งด่วนที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์สั่งการ โดยรายงานได้ครอบคลุมใน ประเด็นที่ต้องจับตา ปัจจัยบวก ปัจจัยลบ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งภาคการเงิน การค้า กลุ่มสินค้าบริการที่มีศักยภาพ กลุ่มสินค้าบริการหดตัว คู่แข่งที่ชิงตลาดไปและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงข้อเสนอถึงโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทยที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ
"โดยข้อมูลที่ได้จากทูตพาณิชย์จะนำมาบูรณาการในบ่ายวันที่ 27 มิถุนายนนี้ ก่อนเสนอในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ที่มีนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธาน โดยที่ประชุมจะหามาตรการในการดูแลและรับฟังปัญหาอุปสรรค ว่าจะต้องปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง เช่น ปัญหาโลจิสติกส์ มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(NTBs) การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า การสร้างแบรนด์ไทยในระดับสากล เป็นต้น รวมถึงการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดใหม่ ที่กรมฯได้ดำเนินการตลอดอยู่แล้ว ทั้งตลาดอาเซียน จีน อินเดีย ลาตินอเมริกา แอฟริกา รัสเซียและซีไอเอส"นางนันทวัลย์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์การส่งออกไทยไปสหภาพยุโรป(อียู) ในเดือนพฤษภาคม 55 ส่งออกเพิ่มขึ้น 6.8% หรือ คิดเป็นมูลค่า 1,974 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยทูตพาณิชย์จากยุโรปวิเคราะห์ตลาดไว้ว่า ยังมีโอกาสเพราะอียูยังถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ อำนาจซื้อและอำนาจต่อรองสูง ไม่มีข้อกีดกันระหว่างกัน ยังมีศักยภาพด้านการลงทุน มีระบบการคมนาคม-โลจิสติกส์สามารถเชื่อมต่อกันได้ทุกประเทศ ดังนั้นยังมีโอกาสทางการค้าลงทุนอยู่ แม้ว่าอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ในยูโรโซน โดยแบ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยกับกลุ่มที่มีความเสี่ยง
“กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากวิฤกตของอียู ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุง เทคโนโลยี หรือทำวิจัยและพัฒนา(R&D) อาทิ เทคโนโลยีการผลิต การรักษาสิ่งแวดล้อม วิธีการบริหารงานอย่างเป็นระบบมาปรับปรุงการผลิตสินค้า กิจการของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้ามากขึ้นและลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว ด้วยการร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์ทางการค้า โดยไทยเรียนรู้ด้านวิธีการใหม่และนำผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำในอุตสาหกรรมต่างๆ มาผลิตสินค้าและส่งกลับไปขายยังตลาดอียูและตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอาหาร" นางนันทวัลย์ กล่าว
การจ้างบริษัทในอียูผลิตสินค้าไทย การจ้างผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในอียูสามารถทำได้ง่ายและใช้งบประมาณการลงทุนน้อยกว่า การขยายฐานการผลิต โดยการมาซื้อ/ตั้งโรงงานในอียู และยังสร้างความสะดวกในการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในประเทศในอียูอีกด้วย รวมทั้งหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ การวิจัยและพัฒนาให้ SMEs ซึ่งน่าจะผลักดันในเวทีการประชุมคณะกรรมาธิการยุโรปในอนาคต
การลงทุนของไทยในด้านธุรกิจหลังการขาย เพื่อสร้างตลาดส่งออกให้กับสินค้าไทย สินค้าประเภทชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนเครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย หากประเทศไทยมีการลงทุนด้านการบริการหลังการขายต่างๆ เช่น การซ่อมแซม การซ่อมแซมเครื่องจักร หรือการซ่อมแซมเครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ ก็จะทำให้สามารถเพิ่มขนาดการส่งออกชิ้นส่วนของสินค้าดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ลู่ทางการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก ที่น่าจะเข้ามาทดแทนพลังงานที่จะขาดหายไปหลังการเลิกใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้แก่ พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อน ในขณะเดียวกันไทยเป็นประเทศเมืองร้อน มีปริมาณแสงอาทิตย์ประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ก็น่าจะเป็นโอกาสที่จะชักชวนนักลงทุนจากอียูมาลงทุนในไทย ด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนของแสงอาทิตย์
สำหรับกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยง เช่น กรีซ สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ควรจับตลาดระดับบนในสาขาบริการเป็นหลัก ได้แก่ ร้านอาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยเป็นเป็นที่ชื่นชอบ โดยอาจลงทุนในธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจการบริการสปา/นวดไทย แต่ต้องปรับรูปแบบ การบริหารจัดการให้มีความเป็นมืออาชีพและจำเป็นต้องปรับปรุง เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และการสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ ให้กับร้านนวดไทย และการท่องเที่ยว โดยการดึงนักท่องเที่ยวให้ไปใช้บริการที่ไทย หรือการลงทุนด้านโฮมสเตย์ อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้เกษียณอายุ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น
"หนี้สาธารณะในกลุ่มอียู ทั่วโลกเฝ้าติดตามดูทิศทางทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางทูตพาณิชย์ดูในเชิงลึกว่า มีรายการใดสูญเสียตลาดให้ประเทศอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งสินค้าเกษตรของไทย มองว่าไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับสินค้าอุตสาหกรรมและวัตถุดิบชิ้นส่วนต่างๆ"นางนันทวัลย์ กล่าว
ส่วนกฎระเบียบต่างๆ นั้น คณะกรรมาธิการยุโรปมีนโยบายที่จะปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความโปร่งใส ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการเต็มที่
นอกจากนี้ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในภูมิภาคสหรัฐฯ รายงานว่า ตลาดสหรัฐฯมีการส่งออกเติบโตในแดนบวก โดย 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.55)อยู่ในระดับ 3.4% อัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 8.2% ในเดือนพฤษภาคม 55 รวมถึงมาตรการถ่วงดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทำให้สหรัฐฯแสดงหาแหล่งนำเข้าใหม่ เพื่อการผลิตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร เป็นปัจจัยบวกที่ไทยจะเพิ่มมูลค่าการค้ากับสหรัฐ ดังนั้นการเพิ่มการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯยังมีลู่ทางที่เติบโตอย่างมั่นคง เนื่องจากตลาดสหรัฐฯยังเป็นตลาดบริโภคนิยม ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ เช่น ฮิสแปนิก มุสลิมและเอเซีย ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสขยายตัวเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคอื่นๆ
“สหรัฐเป็นประเทศนิยมการบริโภค ในขณะที่รายได้ของประชากรต่อคนต่อปีของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง ตลาดตอนกลางของสหรัฐฯเป็นตลาดใหม่ ซึ่งน่าสนใจในการเจาะขยายตลาด กลุ่มสถาบันต่างๆ ในสหรัฐฯ เช่น กองทัพ โรงพยาบาล เรือนจำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสินค้าในปริมาณสูงและมีคุณภาพ"นางนันทวัลย์ กล่าว
ไทยส่งออกมายังสหรัฐฯ มูลค่า 9,263 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกัน 3.4% สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯมีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า-ส่วนประกอบ