นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติกำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นจำนวนไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อเตรียมรองรับกับภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินของโลกที่มีความผันผวน
อนึ่ง ตามที่พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ส.ค.51 และได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ.2552 โดยเมื่อวันที่ 11 ส.ค.54 ได้มีการปรับลดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากเหลือไม่เกินจำนวนเงิน 50 ล้านบาท และจะปรับลดระดับวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 11 ส.ค.55
โดยวงเงินความคุ้มครองเงินฝากที่กำหนดในปัจจุบัน ระดับ 50 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน ครอบคลุมผู้ฝากเงินจำนวน 60.21 ล้านราย คิดเป็น 99.98% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด และครอบคลุมฐานเงินฝากจำนวน 5.21 ล้านล้านบาท หรือ 68.86% ของฐานเงินฝากทั้งหมด แต่เมื่อมีกาปรรับลดวงเงินความคุ้มครองเป็นจำนวนไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเดิมจะมีผลวันที่ 11 ส.ค.55 จะครอบคลุมผู้ฝากลดลงเหลือ 59.53 ล้านราย หรือ 98.42% ของผู้ฝากทั้งหมด แต่ครอบคลุมฐานเงินฝากเพียง 1.8 ล้านล้านบาท หรือ 23.57% ของฐานเงินฝากทั้งหมด ซึ่งในกรณีวงเงินความคุ้มครอง 50 ล้านบาท จะครอบคลุมผู้ฝากรายย่อยหรือผู้ฝากบุคคลได้เกือบทั้งหมด
ทั้งนี้ จากความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องและการพิจารณาตามข้อเท็จจริง ตลอดจนสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติที่ยังคงมีความอ่อนไหวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเคลื่อนย้ายเงินฝากในกรีซ และกาปรรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินในประเทศสเปน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์ภัยธรรมชาติ
อีกทั้งการปรับลดวงเงินคุ้มครองจาก 50 ล้านบาท เป็น 1 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการสินทรัพย์และการเคลื่อนย้ายเงินฝากของผู้ฝากเงินที่เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงวงเงินคุ้มครองอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ
"ดังนั้นการแก้ปัญหาโดยการคงระดับวงเงินความคุ้มครอง 50 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.55 จะส่งผลให้ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจต่อระบบการเงินและสถาบันการ และลดปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน" นายภักดีหาญส์ ระบุ
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรมีการทบทวนระดับวงเงินความคุ้มครองเงินฝากให้มีความเหมาะสมต่อไป