หากย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542) หรือเมื่อ 13 ปีก่อน ชาวยุโรปเกือบค่อนทวีปได้ร่วมกันจุดพลุเฉลิมฉลองการสถาปนาสกุลเงินยูโรกันอย่างเอิกเกริก ด้วยความหวังว่า เงินยูโรจะยิ่งเสริมสร้างบารมีและแสนยานุภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในยุโรปที่ยิ่งใหญ่อยู่แล้วให้แข็งแกร่งเกรียงไกรขึ้นไปอีก แต่ใครเลยจะรู้ว่า เพียงแค่อีกหนึ่งทศวรรษต่อมา กาลกลับตาลปัตร เมื่อเมฆหมอกแห่งวิกฤตหนี้สินได้ก่อตัวขึ้นในกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และล่าสุด สดๆร้อนๆ กับไซปรัส อีกทั้งยังแผ่เข้าปกคลุมทั่วทั้งยูโรโซน รวมถึงคืบคลานไปสู่เศรษฐกิจทั่วโลก จนส่งผลให้อนาคตของสกุลเงินเดียวนี้สั่นคลอนจนแทบจะตกลงจากเส้นด้ายที่แขวนอยู่เลยทีเดียว
ริชาร์ด เควสท์ นักข่าวสายธุรกิจระดับแนวหน้าของซีเอ็นเอ็นกล่าวถึงสถานการณ์ยุโรปในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจและทำให้เห็นภาพชัดเจน โดยเขาเปรียบเปรยวิกฤตหนี้ในภูมิภาคกับการแสดงกายกรรมหมุนจานด้วยปลายไม้ในคณะละครสัตว์ ซึ่งนักแสดงกายกรรมในที่นี้คือบรรดาเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายอย่าง มาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี), ฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานยูโรกรุ๊ป, โฆเซ่ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) รวมถึงนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ที่ต้องใช้กลยุทธ์ทุกกระบวนท่าในการรักษาสมดุลหรือจังหวะ ไม่ให้เร็วหรือช้าเกินไป เพื่อที่จานจะได้ไม่ให้ตกลงมาแตก แถมยังอาจเพิ่มความยากด้วยการส่งจานจากปลายไม้หนึ่งไปสู่อีกด้ามหนึ่ง โดยที่จานยังคงหมุนอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจานที่หมุนอยู่บนปลายไม้ก็เปรียบเสมือนปัญหาต่างๆนานาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในยุโรปขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตในกรีซ ภาคธนาคารสเปน ยอดขาดดุลงบประมาณอิตาลี บอนด์ยิลด์พุ่งสูง และยูโรบอนด์ เป็นต้น
“บางครั้งมีจานหมุนพร้อมกันอยู่หลายใบจนยากที่จะมองเห็นว่า ต้องให้ความสนใจกับจานใบไหนก่อนหรือหลัง" เควสท์เขาว่าไว้อย่างนั้น
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะหนี้สินของชาติสมาชิกอียูเริ่มปรากฏเค้าลางขึ้น หลังจากที่บางประเทศในกลุ่มถูกสงสัยว่าปกปิดและหลอกลวงประเทศสมาชิกรายอื่นๆด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จหรือข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงกรีซที่ออกมายอมรับเมื่อปี 2004 (2547) ว่า ได้มีการตกแต่งบัญชีเพื่อตบตาว่ากรีซมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของยูโรโซน พร้อมกับเผยในปี 2009 (2542) ว่า กรีซมีหนี้สาธารณะสูงถึง 3 แสนล้านยูโร ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หรือคิดเป็น 113% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ยูโรโซนกำหนดไว้ที่ 60% ถึง 2 เท่า ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลและธนาคารของกรีซเริ่มถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่หลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือ ยูโรสแตท ได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนม.ค.2553 ซึ่งมีเนื้อหาประณามประเทศสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ และได้มีการปรับทบทวนตัวเลขขาดดุลงบประมาณของกรีซขึ้นมาอยู่ที่ 12.7% ของจีดีพีในปี 2552 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 3% ที่ยูโรโซนกำหนดเอาไว้มากถึง 4 เท่าเลยทีเดียว
นับตั้งแต่บัดนั้น ความจริงอันน่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับตัวเลขหนี้สินที่หลายประเทศยูโรโซนพยายามแอบซ่อนเอาไว้ก็เริ่มปรากฏ ส่งผลให้หลายประเทศต้องพยายามดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวเองด้วยการรัดเข็มขัดเพื่อลดรายจ่ายและยอดหนี้ แม้การทำเช่นนั้นจะทำให้แทบหายใจหายคอไม่ออกก็ตาม แต่แล้วในที่สุดกรีซก็ไม่สามารถหลีกหนีความจริงได้อีกต่อไปว่า ประเทศกำลังถูกหนี้ท่วม และต้ดสินใจยอมละทิ้งศักดิ์ศรีและแบกหน้าไปขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในที่สุด
หลังจากนั้น คงไม่ต้องบรรยายว่าวิกฤตหนี้ยุโรปขยายวงกว้างออกไปมากขนาดไหน เมื่อไอร์แลนด์ ซึ่งเคยได้รับสมญานามว่า "เสือเศรษฐกิจแห่งเซลติก" ได้ถูกบีบให้ต้องขอรับเงินช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟเป็นประเทศต่อไปในเดือนพ.ย.2010 (2553) ตามด้วยโปรตุเกสที่ออกมายอมรับอย่างขมขื่นว่าไม่สามารถจัดการกับกองหนี้จำนวนมหาศาลได้เพียงลำพังอีกต่อไป พร้อมกับขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในเดือนเม.ย.2011
จนกระทั่งวิกฤตได้ถูกจุดปะทุรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อ สเปน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มยูโรโซน ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือสูงถึง 1 แสนล้านยูโรเพื่อพยุงภาคธนาคารของประเทศ และล่าสุด เมื่อวานนี้ ไซปรัสก็ได้กลายเป็นประเทศที่ 5 ที่หันหน้าไปพึ่งความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกในยูโรโซนเช่นกัน
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรีซเป็นจุดศูนย์รวมความสนใจของทั่วโลก โดยถูกมองว่าอาจเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตของยูโรโซนเลยทีเดียว แต่หลังจากการเลือกตั้งอันลุ้นระทึกผ่านพ้นและกรีซสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้วนั้น คำถามที่ผุดขึ้นมาใหม่ก็คือ แล้วใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไปของวิกฤตหนี้ที่กินระยะเวลามากว่า 3 ปีนี้
สำหรับนักวิเคราะห์หลายราย ตอนนี้กรีซอาจจะไม่ได้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงสุดของยูโรโซนเหมือนช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาอีกแล้ว แต่สายตาของพวกเขากำลังหันไปจับจ้องที่สเปน เนื่องด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่พุ่งสูงแตะระดับอันตรายที่ 7% รวมไปถึงอิตาลีที่บอนด์ยิลด์สูงไม่แพ้กัน หรือแม้แต่รัฐบาลเยอรมนีที่ยังคงยืนกรานคัดค้านการออกพันธบัตรร่วมสกุลเงินยูโร หรือ ยูโรบอนด์ อย่างหัวชนฝา
ในมุมมองของเควสท์นั้น จุดอันตรายที่สุดของวิกฤตหนี้ยุโรป ณ ขณะนี้ น่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคธนาคารของภูมิภาค โดยธนาคารสเปนถือเป็นหลักฐานที่เด่นชัดที่สุด แต่ขณะเดียวกัน เขาเตือนว่า อย่ามองข้ามประเทศที่เป็น "ตัวพ่อ" หรือ "ตัวแม่" ในกลุ่มอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนี เพราะธนาคารของ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่นี้ต่างก็ถือครองสินทรัพย์ "เน่าเสีย" อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวคนดังของซีเอ็นเอ็นกล่าวต่อไปด้วยว่า ระบบธนาคารในยุโรปมีความเชื่อมโยงกันมากเสียจนกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ผลกระทบจะไม่กระเด็นกระดอนไปถึงภาคธนาคารของเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยถึงแม้ว่าธนาคารของ 2 ประเทศดังกล่าวจะสามารถต้านทานสถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้ แต่คำถามก็คือ จะต้องแลกกับอะไรบ้างและผลพวงที่ตามมาคืออะไร ทั้งนี้ หากสิ่งที่ต้องแลกมาคือการลดปล่อยเงินกู้ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคที่ยิ่งชะลอตัวลงอีก
สรุปแล้ว วิกฤตหนี้ยุโรปอาจจะย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพียงแค่ชั่วประเดี๋ยว ก่อนที่จะวนเวียนกลับมายังที่เดิมไม่จากไปไหน ดังเช่นปัญหาในกรีซที่เควสท์เชื่อว่าเพียงแค่ถูกนำออกจากเตามาพักไว้ ในขณะที่มีปัญหาอื่นที่เร่งรีบกว่าให้บรรดาผู้นำยุโรปไปจัดการ
ด้วยการเจรจาต่อรองเรื่องมาตรการรัดเข็มขัดและความช่วยเหลือทางการเงินที่ยังคงดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศที่ดำดิ่งสู่ภาวะถดถอยเป็นปีที่ 5 และรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่ดูกระเสาะกระแสะ (กรณีนี้ไม่ได้หมายรวมถึงนายกฯกรีซที่เข้ารับการผ่าตัดตาหลังจากเพิ่งสาบานตนรับตำแหน่งไม่กี่วัน ขณะที่รมว.คลังก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ) จึงไม่น่าแปลกใจหากปัญหาการเงินของกรีซจะโผล่กลับขึ้นมาอยู่เหนือผิวน้ำในอีกไม่ช้าไม่นานนี้