รัฐจ่อลดวงเงินอุดหนุนด้านพลังงานเน้นให้เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจริง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 28, 2012 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังศึกษาแผนการลดวงเงินอุดหนุนด้านพลังงาน โดยจะให้การอุดหนุนเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยจริงๆ เช่น ลดการอุดหนุนค่าไฟฟ้าฟรีจาก 90 หน่วย เหลือ 50 หน่วย/เดือน รวมทั้งศึกษาเรื่องการลอยตัวราคาพลังงานเพื่อรองรับการที่ไทยจะเข้าสู่การรวมกลุ่มของประชาคมอาเซียน(AEC)ในปี 2558 โดยเฉพาะราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ที่กำลังศึกษาว่าจะอุดหนุนเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำเท่านั้น

สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของประเทศไทย ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว(PDP) ได้ศึกษาการเตรียมพร้อมในการกระจายเชื้อเพลิงและสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยในแผน PDP ใหม่ 2012 จะมีทั้งการเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน, โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้เวลานาน 7-10 ปี หากไม่เตรียมการในขณะนี้จะกระทบต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะประเทศพม่าและเวียดนามที่ขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และมีทรัพยากรมากกว่าไทย

"เรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะนี้มีผู้คัดค้านจำนวนมาก เพราะไม่เข้าใจกลไกโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดว่าไม่สร้างมลพิษ นับเป็นกลุ่มคนที่ไม่เอาถ่าน โดยหากมีการชี้แจงให้เกิดความเข้าในคนกลุ่มนี้ จะกลายเป็นคนเอาถ่าน" รมว.พลังงาน กล่าว

ส่วนการยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ในวันที่ 1 ต.ค.55 ตามมติ ครม.หรือไม่นั้น นายอารักษ์ กล่าวว่า เป็นนโยบายที่เกิดจากรัฐมนตรีคนที่ผ่านมา โดยระหว่างนี้จะขอดูข้อมูลก่อน จึงไม่สามารถตอบได้ว่าจะยกเลิกหรือไม่ อย่างไรก็ดี หากยกเลิกจริงคงต้องพิจารณามาตรการเตรียมพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้น้ำมันเบนซิน

ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานที่ยั่งยืน กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรเข้ามาอุดหนุนราคาพลังงานมากเกินไป แต่ควรเลือกอุดหนุนเฉพาะกลุ่มผู้ที่เดือดร้อนหรือมีรายได้น้อยจริงๆ เท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการอุดหนุนประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งคนร่ำรวยโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ เห็นได้ว่าปัจจุบันรัฐบาลได้อุดหนุนราคาพลังงาน ทั้งการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลด้วยการลดการจัดเก็บภาษีน้ำมันในอัตราประมาณ 5 บาท/ลิตร รวมมูลค่าการอุดหนุนราคาพลังงาน ปีละ 1.5-1.6 แสนล้านบาท หากอุดหนุนยาว 5 ปีจะเป็นวงเงินรวมเกือบ 1 ล้านล้านบาท ทั้งที่ควรจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ เช่น การลงทุนสร้างรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ธนาคารโลกได้เข้ามาศึกษาเรื่องการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศแถบเอเชียพบว่าประโยชน์ของการอุดหนุนมีเพียง 30% เท่านั้นที่ไปถึงประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่อีก 70% เป็นการอุดหนุนที่ไม่ตรงจุด จึงทำให้หลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ปรับแผนลดการอุดหนุนโดยมุ่งอุดหนุนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะลดมูลค่าวงเงินการอุดหนุนได้แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ