นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.55 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งหลังจากหดตัวในรอบ 2 เดือน โดยกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้าและประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศจีน ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย
ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนวัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค.55 ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ร้อยละ 137.5 สอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนก็มีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวได้ดีร้อยละ 21.3 และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวได้ในระดับสูงถึงร้อยละ 85.8 นอกจากนี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างที่วัดจากภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 14.0 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.3 บ่งชี้ถึงการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
"เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2554 บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นหลังจากสิ้นสุดวิกฤตอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปนี้จะต้องติดตามสถานการณ์วิกฤติหนี้ยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี" ผู้อำนวยการ สศค.ระบุ
ด้านนายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า ด้านการผลิตประจำเดือน พ.ค.55 มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรก หลังจากสิ้นสุดวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 54 โดยขยายตัวร้อยละ 5.5 ขณะที่เดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งร้อยละ 7.3 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะหมวดพืชผลขยายตัวร้อยละ 8.0 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าและปาล์มน้ำมัน สำหรับหมวดปศุสัตว์ก็ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากสุกรและไก่เป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีการขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจพบว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์ที่มั่นคงแม้ว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าแต่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน เนื่องจากมีแรงงานที่พึ่งจบการศึกษาเข้าตลาดแรงงาน
ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงกว่า 171.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงเสถียรภาพภายนอกที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้