นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า แม้ว่าในระยะสั้นการส่งออกของไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจต่างประเทศ แต่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว โดยเริ่มเห็นสัญญาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าอิเลคทรอนิกส์
การส่งออกไปยังจีนเองก็เริ่มเห็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ขยายตัวลดลง เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกันสินค้าประเภทน้ำยางก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมทำให้การส่งออกลดลง
ทั้งนี้ ธปท.จะต้องติดตามดูแลปัจจัยดังกล่าวต่อไป แต่หากดูการส่งออกในเดือน พ.ค.ยังพบว่าปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม ทั้งอิเลิคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ขณะที่ด้านการส่งออกสินเค้าเกษตรหดตัวตามปริมาณการส่งออกข้าวและยางพารา โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป ได้แก่ สเปน อิตาลี และฝรั่งเศสหดตัวลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวการส่งออกบางภาคตยังฟื้นไม่เต็ม 100% โดยการส่งออกในสัดส่วนราว 30% ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยเมื่อปลายปีก่อนขณะนี้ฟื้นตัวดีขึ้นและกลับมาผลิตได้ครบทั้งหมดแล้ว อีกสัดส่วน 70% ที่ไม่ถุกกระทบจากน้ำท่วม แต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน ทำให้การฟื้นตัวไม่เต็มที่
ธปท.ระบุว่า มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค.ที่ขยายตัว 6.7% หรือมีมูลค่า 20,549 เหรียญ สรอ.นั้น พบว่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป(อียู)ชะลอตัว แม้ว่าอัตราการขยายตัวใน 27 ประเทศในอียูจะเป็นบวกราว 4.4% แต่เศรษฐกิจบางประเทศก็หดตัว ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการกระจายตลาดส่งออกไปยังหลายประเทศ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากอียูได้ ทำให้การขยายตัวของการส่งออกไม่ลดลงไปมากนัก
นายเมธี กล่าวว่า วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 15 ปีก่อนมีความแตกต่างกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากในขณะนั้นปัญหาเกิดจากในประเทศลุกลามไปสู่ต่างประเทศ แต่ขณะนี้ปัญหาเกิดขึ้นจากยูโรป ดังนั้นผลกระทบที่มีต่อไทยเมื่อเทียบกับปี 40 จึงน้อยกว่าและเรามีการป้อวกันตัวได้ดีกว่า เพราะว่าไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับยุโรปด้านส่งออกประมาณ 11% การท่องเที่ยว 19% ธุรกรรมของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับยุโรปมีไม่มาก ดังนั้นผลกระทบก็จะน้อยกว่า
"ไม่ได้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงตามการส่งออกที่ลดลง ซึ่งแบงก์ชาติทำสมมติฐาน GDP ครอบคลุมการส่งออกที่จะหดตัวทั้งหมดแล้ว และยังให้คาดการณ์ตัวเลข GDP ปีนี้โต 6%"นายเมธี กล่าว