(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 2.56%,Core CPI ขยายตัว 1.92%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 2, 2012 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน มิ.ย.55 อยู่ที่ 115.42 เพิ่มขึ้น 2.56% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.55 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.55) เพิ่มขึ้น 2.95%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน มิ.ย.55 อยู่ที่ 108.31 เพิ่มขึ้น 1.92% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.15% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.55 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 6 เดือนของปีนี้เพิ่มขึ้น 2.37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน มิ.ย.55 อยู่ที่ 139.40 เพิ่มขึ้น 4.72% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่คงที่เท่ากับเดือน พ.ค.55

ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน มิ.ย.55 อยู่ที่ 101.68 เพิ่มขึ้น 1.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.27% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.55

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.55 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจโดยภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี มีเสถียรภาพจากนโยบายของภาครัฐในการดูแลราคาสินค้า

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.55 เมื่อเทียบกับ พ.ค.55 สูงขึ้น 0.16% เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.28% เนื่องจากการสูงขึ้นของค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ดัชนีลดลง 0.80% เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นการยกเลิกชั่วคราวจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของภาครัฐและการตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อไปอีก 3 เดือน

ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. 55 เมื่อเทียบกับ มิ.ย.54 สูงขึ้น 2.56% เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 4.72% โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น 2.49% ปลาและสัตว์น้ำ สูงขึ้น 3.94% ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 1.59% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.85% ส่วนดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.17% ซึ่งเป็นผลจากการสูงขึ้นของหมวดเคหะสถาน 3.42% หมวดดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 1.09% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.59% เป็นต้น

"คาดเงินเงินเฟ้อในไตรมาส 3 ไม่เกิน 3.3% โดยแนวโน้มสถานการณ์เงินเฟ้อในขณะนี้ ถือว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าทั้งปีอัตราเงิเฟ้อจะอยู่ที่ 3.5% จากเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ 3.3-3.8%" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน

ทั้งนี้ สมมติฐานของเงินเฟ้อ ยังอยู่ที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีนี้ที่ 95-115 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 29-33 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลยังคงมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ