นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการยุโรปด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ได้มีมติยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดจากประเทศไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏภาคม 2555 เป็นต้นไปนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการให้สามารถผลิตเนื้อสัตว์ปีกให้เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้
ซึ่งจากการหารือกับภาคเอกชนถึงความพร้อมในด้านกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ปีกขณะนี้ ที่ปัจจุบันมีโรงงานฆ่าสัตว์ปีกเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 24 แห่ง โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีก หรือโรงงานตัดแต่งเนื้อสัตว์ปีกที่ได้รับการรับรองให้ส่งออก สินค้าเนื้อสัตว์ปีกดิบไปยังสหภาพยุโรป จำนวน 7 แห่ง และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกปรุงสุกเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป จำนวน 74 แห่ง พบว่า ปริมาณการผลิตสัตว์ปีกมีเพียงพอต่อการส่งออก แต่เนื่องจากเพิ่งเปิดตลาดเนื้อสัตว์ปีกดิบสดไปยังสหภาพยุโรป ในส่วนของโรงงานต้องมีการปรับไลน์หรือเพิ่มไลน์การผลิต ซึ่งในระยะแรกต้องค่อยๆผลิตและส่งออกจึงอาจจะผลิตได้ไม่เต็มที่
สำหรับการเตรียมการอื่นๆ กรมปศุสัตว์ ได้มีการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสินค้าเนื้อสัตว์ปีก ให้เป็นไปตามกฎหมายของสหภาพยุโรป รวมทั้งประชุมซักซ้อมความเข้าใจของเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ และผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามระเบียบของสหภาพยุโรป ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการดำเนินงาน
ประเทศไทยได้โควต้าในการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีก ทั้งในส่วนของไก่หมักเกลือ ( Meat preparation) ปีละ 92,610 ตัน และไก่ดิบสด (Fresh poultry meat) ซึ่งไม่มีการกำหนดโควต้า ในครึ่งหลังของปี 2555 (2 กรกฎาคม — ธันวาคม 2555) ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ คาดว่าจะสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดไปสหภาพยุโรปได้ ประมาณ 50,000 ตัน มูลค่า 4,500 ล้านบาท
ขณะที่การส่งออกเนื้อสัตว์ปีกปรุงสุกไปสหภาพยุโรปในช่วง 4 เดือนแรกยังสามารถส่งออกได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2554 คือ จำนวน 66,608 ตัน มูลค่า 8,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.90 โดยมีประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกหลักจากไทย ได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ และเนื้อไก่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค และมีราคาถูกกว่า เนื้อวัว และเนื้อสุกร ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงคาดว่าวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกของไทยมากนัก
อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ มีการควบคุมและตรวจสอบการผลิตเนื้อสัตว์ปีกอย่างเข้มงวดตลอดทั้งวงจรการผลิตเนื้อสัตว์ปีก นับตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ — ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ - โรงงานฆ่าสัตว์ - โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์- การขนส่ง ซึ่งโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ปีกเพื่อส่งออกทุกแห่งได้รับการรับรองระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (ระบบ HACCP) จากกรมปศุสัตว์ และสามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกได้ จนทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดไปยังสหภาพยุโรปได้อีกครั้ง