นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 ลงมาที่ 3.3% หลังจากอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก และมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 3% ยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ขณะนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีน้อยกว่าความเสี่ยงด้านการขยายตัวเศรษฐกิจ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ซึ่งทำให้อุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์ของโลก โดยเฉพาะน้ำมันและพลังงานลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศชะลอตัวลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยหลายตัวยังต้องติดตามไปอีกระยะหนึ่ง เพราะอุปสงค์ในประเทศยังเติบโตได้พอสมควร โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตในระดับสูง ซึ่ง ธปท.ต้องเข้าไปติดตามดูแลความเหมาะสมอย่างใกล้ชิด
นายประสาร กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% ในขณะนี้ยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ที่ ธปท.ปรับคาดการณ์มาที่ 3.3% ถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างพอใช้ได้ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของไทยหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคบางประเทศยังพบว่าสูงกว่าไทย อย่างอินโดนีเซีย แต่ในแง่ทิศทางอัตราเงินเฟ้อของภูมิภาคลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารกลางในแต่ละประเทศ ก็จะพยายามดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป เพื่อรักษาสถานะการแข่งขันด้านการค้า
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในช่วง 3 สัปดาห์ข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซน สหรัฐ และเศรษฐกิจโลกอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการประชุมครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ แม้ว่า ธปท.มองว่าวิกฤติยูโรโซนผ่อนคลายลงไปบ้างหลังจากมีการบรรลุข้อตกลงหลายตัว แต่ยังมีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร เพราะยังต้องใช้เวลาพอสมควร
"วิกฤติยูโรตอนนี้อาจจะผ่อนคลายไประยะหนึ่ง แต่ปัญหายังคงไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ว ๆ นี้ ยังต้องใช้เวลาพอสมควร"นายประสาร กล่าว
สำหรับกรณีที่กระทรวงการคลังขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากที่วงเงิน 50 ล้านบาทนั้น นายประสาร กล่าวว่า คงไม่ได้ทำให้เงินต่างประเทศไหลเข้ามาฝากในไทยเพิ่มขึ้นมาก เพราะปกติการฝากเงินเป็นไปตามความสะดวกของผู้ฝากมากกว่า ประกอบกับอัตราผลตอบแทนระหว่างธนาคารไทยและต่างประเทศไม่ได้แตกต่างกันมากนัก จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยมาก
อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยยังมีศัยภาพในการเติบโตขอองเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้น เงินทุนต่างชาติยังเป็นการไหลเข้าสุทธิ แต่ในระยะหลัง ๆ ตลาดทุนโลกมีความอ่อนไหวมากและสับสนกับข่าวแรง ๆ จึงให้เงินทุนในภูมิภาครวมทั้งไทยมีความผันผวนรุนแรงบ้าง ดังนั้น ธปท.ยังจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนก็ต้องปิดสถานะความเสี่ยงให้ดี
นายประสาร ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติยังเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรไทย โดยในช่วง 3 เดือนแรกของเดือนมิ.ย.55 เป็นการลงทุนสุทธิ แม้ในช่วงดังกล่าวดัชนีตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงไปมาก ส่วนการขายพันธบัตรและนำเงินออกไปในช่วงเดือนพ.ค.นั้น คงเป็นเพราะต้องการสภาพคล่องจึงมีการขายสินทรัพย์แล้วนำออกไปบ้าง ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะสัดส่วนการถือครองพันธบัตรของต่างชาติยังอยู่ที่ 8-9% ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่เคยอยู่ในระดับ 4-5%
ส่วนเรื่องกระทรวงการคลังมีแผนจะกู้เงินในประเทศ 2 ล้านล้านบาทนั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เป็นการทยอยกู้หลายปี ขณะที่สภาพคล่องในระบบมีมาก โดย M2 อยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท จึงไม่น่าจะมีผลกระทบกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ซึงการกู้เงินในประเทศมีต้นทุนถูกกว่ากู้ต่างประเทศ หรือต้นทุนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% แต่การกู้ต่างประเทศอยู่ที่กว่า 4% บวกค่าธรรมเนียม และมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนั้น การกู้เงินในประเทศของภาครัฐยังถือเป็นการช่วย ธปท.ในการดูดซับสภาพคล่องในระบบด้วย อย่างไรก็ตาม ธปท.ก็มีเครื่องมือในการดูดซับฯหลายตัว และในตลาดซื้อคืนพันธบัตร(อาร์/พี)1 วันมีสภาพคล่องหมุนเวียนวันละประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ถ้าสภาพคล่องในระบบนั้นหมดไป ก็สามารถนำเข้าไปเติมได้ โดยปกติ ณ สิ้นวันทำการ ธนาคารพาณิชย์จะนำเงินที่เหลือจากการปล่อยกู้มาพักในตลาดอาร์พีประมาณ 4-6 แสนล้านบาทขึ้นกับการใช้เงินแต่ละวัน แต่บางวันอาจจะลดลงไปเหลือแค่ 1 แสนล้านบาทก็ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ