นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษีอากร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเรียกร้องให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เร่งพิจารณาผลักดันร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) ฉบับที่ 442 ว่าด้วยการยกเว้นภาษีให้กับบริษัทไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนให้ธุรกิจคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58
ทั้งนี้ ร่างแก้ไขพ.ร.ก.ดังกล่าว ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อน ซึ่งได้มีการตัดเงื่อนไขในเรื่องการเสียภาษีของบริษัทไทยในต่างประเทศ โดยเหลือเพียงว่าหากบริษัทไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศได้เสียภาษีเงินได้ในชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบริษัทที่ประกอบการ หรือบริษัทที่ถือหุ้นในโฮลดิ้ง เงินปันผลที่ส่งกลับเข้ามาจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ จากปัจจุบันที่รัฐบาลไทยเก็บภาษีจากเงินปันผลจากบริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศประมาณ 28% ทั้งที่บริษัทเหล่านั้นได้เสียภาษีเงินได้ในประเทศที่ 3 หรือในประเทศที่เข้าไปลงทุนแล้วซึ่งเท่ากับเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน และทำให้ไม่มีใครต้องการนำเงินเข้าประเทศ
นอกจากนี้ ยังทำให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอาจชะลอการตัดสินใจลงทุน เพราะรัฐบาลไทยเก็บภาษีต่างๆ สูงมาก ซึ่งต่างจากเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ที่ไม่เก็บภาษีรายได้นอกประเทศเลย และอาจทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในสิงคโปร์แทน
นายกิติพงศ์ กล่าวว่า หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว เรื่องได้ถูกส่งกลับมายังนายกิตติรัตน์ เพื่อให้พิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่ทราบว่ารองนายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ และขอให้กรมสรรพากรพิจารณาข้อมูลใหม่ เพราะอาจจะเป็นช่องทางในการหนีภาษีของบริษัทไทย และการนำเงินต่างประเทศเข้าประเทศมากๆ อาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
"ผมเห็นว่าเงินได้จากภายนอกประเทศ ถ้าภาคเอกชนไม่นำเข้ามาในประเทศ รัฐบาลก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นช่องทางที่จะเลี่ยงภาษี ส่วนที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าก็อาจมีส่วน แต่ไม่น่าจะใช่สาเหตุหลัก ดังนั้นรัฐบาลควรจะเร่งออก พ.ร.ก.นี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ เพราะนโยบายที่สวนทางทำให้บริษัทไทยมีต้นทุนแพงกว่าบริษัทในประเทศอื่น" นายกิติพงศ์กล่าว