นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ได้ปรับเปลี่ยนการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 55 เหลือเพียง 5-5.5% จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ระดับ 5.8-6.5% (คาดการณ์ปลายปี 54 และเมษายน 55) โดย GDP ไตรมาส 3/55 จะเติบโตประมาณ 5.2% ลดลงจากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 6.5% และไตรมาส 4/55 จะขยายตัว 13% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 13%
เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังยังขยายเพิ่มขึ้นจากภาคการลงทุนและการฟื้นตัวหลังน้ำท่วมของภาคการผลิต แต่ถูกกดดันอย่างมากจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะในยุโรปที่ลดลงอย่างชัดเจนทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงมีความจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคภายในด้วยการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการคลังควบคู่กันไป
ทั้งนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสามารถปรับลดลงได้อีกอย่างน้อย 0.5-1.0% หากเห็นว่าเศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไป เนื่องจากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพเศรษฐกิจไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ เพื่อการปฏิรูปคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3-3.5% เท่านั้น
"ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนแอลงจากปัจจัยภายนอก (วิกฤติหนี้ยูโรโซนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก) และ ปัจจัยภายใน (ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อหลายปีและผลกระทบมหาอุทกภัยปี 54) สะท้อนจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราการเติบโตของการบริโภคและการลงทุนและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง" นายอนุสรณ์ กล่าว
สำหรับผลกระทบของวิกฤติยูโรโซนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในระดับต่างๆกันสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กรณี ได้แก่ กรณีแรกไม่มีประเทศไหนที่ประสบปัญหาวิกฤติออกจากระบบยูโรโซน ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินไม่ขยายวง กรณีแรกนี้ มีผลกระทบต่อไทยเพียงเล็กน้อยผ่านทางการส่งออก ไม่มีปัญหา Counter Party Risks รุนแรง
ขณะที่กรณีที่สอง มีการผิดนัดชำระหนี้บ้างแต่ไม่มีประเทศไหนออกจากยูโรโซน ระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อการส่งออกไทยเพิ่มขึ้นและมีผลต่อความผันผวนของตลาดการเงินพอสมควร ต้องติดตามปัญหา Counter Party Risks ใกล้ชิด
ทั้งนี้ กรณีที่หนึ่งและกรณีที่สองเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด บทบาทของ Troika (EU-IMF-ECB) จะช่วยควบคุมไม่ให้สถานการณ์วิกฤติลุกลามและขยายวง โอกาสของการเกิดขึ้นของทั้งสองกรณีประมาณ 70%
ทั้ง 2 กรณีจะทำให้อัตราการขยายตัวการส่งออกไทยอยู่ที่ 7-8% และอัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 5-5.5% EU-IMF-ECB จะต้องปล่อยกู้เพื่อให้ประเทศกรีซ อิตาลี โปรตุเกสและสเปน สามารถชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ตามเวลา โดยที่ในปี 55 ตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไปจะมียอดหนี้ครบกำหนดชำระในสี่ประเทศที่เกิดวิกฤติประมาณ 307,441 ล้านยูโร และในปี 56 ประมาณ 344,994 ล้านยูโร หากสามารถจัดการไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ได้ ความผันผวนอย่างรุนแรงของตลาดการเงินโลกและภาวะดิ่งลงอย่างแรงของเศรษฐกิจโลกจะไม่เกิดขึ้น
กรณีที่สาม มีการผิดนัดชำระหนี้ ปัญหาวิกฤติระบบสถาบันการเงินขยายวง มีสถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้ม แต่ยังไม่ทำให้บางประเทศออกจากระบบเงินยูโร กรณีนี้จะทำให้การขยายตัวของการส่งออกเป็นบวกเพียงเล็กน้อย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 3% กรณีนี้มีความเป็นไปได้ประมาณ 20%
ส่วนกรณีที่สี่ มีการผิดนัดชำระหนี้ ปัญหาวิกฤติการเงินขยายวง มีสถาบันการเงินล้มและมีบางประเทศออกจากระบบเงินยูโร ผลทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกติดลบได้และมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตต่ำกว่า 2% อย่างไรก็ตาม กรณีที่สี่นี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นน้อยที่สุด มีโอกาสเกิดขึ้นไม่เกิน 10% "ไม่ว่ากรณีไหนใน 4 กรณีล้วนทำให้ ภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงทั้งสิ้นแต่ในระดับที่แตกต่างกัน เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมครึ่งปีหลังเติบโตลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เศรษฐกิจโลกผันผวนสูงมาก เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 1.5-2.6% ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมจากระดับ 118 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นแต่ยังคงอ่อนแอ อาจมีการดำเนินนโยบาย QE3 ในช่วงปลายปีหากสถานการณ์ในยูโรโซนลุกลามมาก
แม้ยุโรปได้ผ่านช่วงเวลาย่ำแย่ที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว จากการที่อียูตัดสินใจอนุมัติเม็ดเงินหลายแสนล้านยูโรเพื่อไม่ให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ แต่ปัญหาหนี้ภาครัฐยังคงลุกลามและเกิดปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในสเปนและปัญหาเศรษฐกิจของอิตาลีเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ปัญหาเริ่มลุกลามสู่ภาคการเงิน นักลงทุนและประชาชนไม่มั่นใจต่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน แห่ไปถอนเงินฝาก ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินด้วยกันเองก็หยุดปล่อยกู้และชะลอการทำธุรกรรมต่อกัน เงินไหลออกจากระบบสถาบันการเงิน จนเกิดปัญหาสภาพคล่องและสถาบันการเงินล้มละลายได้" นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ทางการเมืองเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งจะผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การลงทุนและการดำเนินนโยบายในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
"หากเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยอำนาจนอกระบบอีก ไม่แน่ใจว่า ครั้งนี้ศักยภาพของปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยจะสามารถรองรับได้หรือไม่ อาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนมากมายและทำให้เข้าสู่ ทศวรรษแห่งความถดถอยและเติบโตต่ำ ได้ การทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองและรัฐบาลอยู่ตามวาระจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศและการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" นายอนุสรณ์ กล่าว
ผลกระทบยูโรโซนและปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองรุนแรงที่สุดจะมีผลต่อการท่องเที่ยวอัตราการขยายตัวลดลง 5.24% มีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 555,253 ล้านบาท รายได้ท่องเที่ยวลดลงราว 76,828 ล้านบาทจากกรณีปรกติ จากสถิตินักท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยวพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางมาประเทศไทยยังคงขยายตัวได้สูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดโดยที่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 เดือนแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.27 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ ภูมิภาคแอฟริกา อเมริกา และยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.46 10.92 และ 10.91 ตามลำดับ สถานการณ์วิกฤติหนี้สินยูโรโซนจะส่งผลต่อกำลังซื้อถดถอยและยกเลิกการท่องเที่ยวได้