นายแบงก์มองไทยมีโอกาสมากที่สุดจากการเปิดประเทศพม่า และการเปิดประชาคม AEC ในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้า-การลงทุนของภูมิภาคอาเซียน ขณะที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เร่งเตรียมความพร้อมเอกชนไทยรับมือการขยายตัวด้วยการหาแนวทางให้เข้าสู่แหล่งทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวในงานสัมมนา "Explore Golden Opportunities in Myanmar"ว่า การที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 เป็นการส่งเสริมให้ประเทศพม่ามีความน่าสนใจมากขึ้น การค้าขายในกลุ่มอาเซียนมีโอกาสมากขึ้น และเมื่อ AEC เปิดจะเป็นโอกาสไทยที่ได้รับประโยชน์จากพม่ามากที่สุด
"ประเทศไทยมีส่วนสำคัญในเรื่องดีมานด์ในตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งพม่าสามารถพัฒนาประเทศและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศไทยประสบปัญหาค่าแรง และการขาดแคลนแรงงาน"นายอภิศักดิ์ กล่าว
กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB กล่าวว่า ขณะนี้เป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าไปสนับสนุนการลงทุนในพม่า เพราะมองว่าในอนาคตบางอุตสาหกรรมของไทยจะประสบปัญหาด้านแรงงาน ดังนั้น ต้องมีการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าการเปิดประเทศของพม่าและ AEC จะเป็นโอกาสสำหรับไทยมากที่สุด โดยเฉพาะพม่าที่มีพื้นที่ติดกับไทย
และหากมีโครงการท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมทวายจะยิ่งเป็นโอกาสของไทยมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้พม่ายังมีข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต้องพัฒนาอีกมาก ทั้งถนนและโรงไฟฟ้า
ในส่วนธนาคารกรุงไทย พร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจไทยเข้าลงทุนในพม่า ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปิดสำนักงานผู้แทนในพม่าแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจากับพม่าเพื่อยกระดับเป็นสาขา เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้มากขึ้น ขณะเดียวกันมีการเจรจาธนาคารในพม่า เพื่อเป็นพันธมิตรธุรกิจในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินในพม่า
ด้านนายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวบรรยายเรื่อง"ตลาดทุนตอบโจทย์รุก-รับ AEC"ว่า ไทยจำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความแข้มแข็ง มีคุณภาพ มีระบบบัญชีที่ดี เพื่อเตรียมตัวพร้อมรับมือการเปิด AEC ที่จะมีระบบภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็น 0% ประกอบกับขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการเข้าถึงแหล่งทุนและตลาดในภูมิภาคทีมากขึ้นด้วย
ดังนั้น ก.ล.ต.จึงมีนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีทั่วไประเทศให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทุกรูปแบบ โดยในปี 56 ก.ล.ต.จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นไฟลิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะเดียวกันจะมีการประกาศเชิญชวนให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในโครงการเอสเอ็มอีเครดิตเรทติ้งโปรแกรม
ขณะนี้ ก.ล.ต.ได้ประสานกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลดค่าใช้จ่าย เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีสร้างความพร้อม และหลังจากนั้น เมื่อมีการจัดเครดิตเรทติ้งแล้ว เอสเอ็มอีก็จะสามารถออกหุ้นกู้ได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางเข้าถึงแหล่งทุน
พร้อมกันนั้น ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์ เวนเจอร์ฟันด์ เพื่อเป็นช่องทางให้เอสเอ็มอีกระดมทุนอีกทางหนึ่ง หรืออย่างน้อย 1% ของเอสเอ็มอีทีมีทั้งหมด 3 ล้านราย จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถระดมทุนนับหมื่นล้านบาท และยังมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะสามารถระดมเงินทุนได้ ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้า และการคมนาคม โดยขณะนี้มีบริษัทไทยเตรียมระดมทุนสร้างโรงไฟฟ้าผ่านกองทุนดังกล่าว
อีกทั้ง ก.ล.ต.ยังได้มีการออกหลักเกณฑ์รูปแบบโฮลดิ้งคัมปานี เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาศักยภาพการลงทุนของภาคธุรกิจไทย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นกลไกเพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์การค้าการลงทุน เป็น Golden Gate ของภูมิภาค และกระจายความเจริญไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาค