นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ ที่ประชุมคงจะมีการประเมินผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศว่ามีผลต่อภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายและภาพรวมเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด เพื่อที่ กนง.จะนำมาประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมต่อไป
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อขณะนี้ต่ำลงมาแล้ว แต่ ธปท.จะประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อด้วยการการมองไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% ถือว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย
"การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นนั้นไม่ควรต่ำจนผิดปกติ แต่ควรจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ" นายไพบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีก่อนธปท.ผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยเพราะเศรษฐกิจโลกแย่ จากนั้นก็ค่อยปรับขึ้นเข้าสู่ระบบปกติ เพราะการที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นมาแล้ว การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำอาจจะทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น การที่ ธปท.สื่อสารกับตลาดเรื่องนโยบายการเงินนั้นเป็นประโยชน์ทำให้ตลาดมีการปรับตัว ซึ่งถือเป็นความสำคัญที่จะต้องสื่อสาร
"ตอนนี้ตลาดเงินก็ทำงานดี แม้จะมีคนมองว่าสเปรดธนาคารพาริชย์สูง ซึ่งธปท.ก็ยอมรับว่าสูง แต่ทิศทางต่อไปธปท.จะมีการเปิดให้มีการแข่งขัน และเปิดให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 ก็จะทำให้สเปรดปรับตัวลดลง แต่ที่ธปท.บอกว่าสเปรดสูงต้องยอมรับว่าต้นทุนธนาคารสูงจากความเสี่ยงที่สูง แต่ในอนาคตทุกอย่างอาจจะปรับตัวลดลงในราคาที่เหมาะสม ทั้งเงินฝากและเงินกู้ เพระว่าทิศทางเงินฝากและเงินกู้จะไปทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบาย แต่ส่วนหนึ่งที่มีการแข่งขันเงินฝากเพราะแบงก์รัฐก็เข้ามาในสนามด้วย"
นายไพบูลย์ กล่าวว่าในงานสัมมนา TLCA Annual Risk Management Conference 2012 หัวข้อ“Managing Economic Uncertainty"ว่า การที่ ธปท.ทำนโยบายการเงินเป็นการพยากรณ์ดอกเบี้ยและเศรษฐกิจล่วงหน้า อาจจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ดังนั้นธุรกิจจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงและเชื่อมั่นในตัวเองด้วย ใช้สามัญสำนึก ต่อไปส่งออกมีโอกาสชะลอตัวมากกว่าฟื้นตัวแข็งแกร่ง ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีทิศทางที่อ่อนค่า
"อย่าไปคิดว่ารัฐบาลจะเอาอยู่ ท่านก็ต้องรีบไปดูแลตัวเองด้วย ควรเอาอยู่ด้วยตัวของท่านเอง"
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยผ่านพ้นน้ำท่วม การเมือง เศรษฐกิจโลกได้ดี ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ขณะนี้ยินดีที่จะแจ้งว่า ระบบสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง ระดับเอเชีย และโลก ซึ่งมี BIS สูงกว่า 2 เท่าตามที่กำหนดเอาไว้ ที่ผ่านมาธปท.กำชับให้กันสำรองหนี้สูงขึ้น โดยเมื่อได้กำไรแทนจะจ่ายปันผลให้นำมาสำรองเพื่อใช้เป็นกระสุนต่อไป
ด้านภาระหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำ แต่ว่าที่มีหนี้ก้มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้ว เป็นเรื่องที่ดี ในอนาคตก็ต้องทำแบบนี้ อย่าไปคิดว่าธปท. จะเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท เพียงแต่จะเข้าไปในช่วงตลาดปั่นป่วน เพื่อให้หายวุ่นวายเท่านั้น ซึ่งในปี 54 เป็นประวัติการณ์ที่การนำเงินออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ สูงกว่าเงินลงทุนโดยตรงที่เข้ามาในไทย ซึ่งธปท.จะช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบที่ติดขัดทั้งการลงทุนในรูปบริษัทและประชาชนรายย่อย ซึ่งขณะนี้ก็ผ่อนคลายเกือบ 100% แล้ว